1 ต.ค. 59 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล รักษาการอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายมุ่งเน้นเติมน้ำต้นทุนเขื่อนให้มากที่สุด จึงได้ขยายแผนปฎิบัติการฝนหลวงออกไปถึงสิ้นเดือนต.ค. ก่อนที่ร่องมรสุมจะเลื่อนลงภาคใต้ โดยให้ทุกหน่วยฝนหลวง เร่งระดมปฎิบัติการเติมน้ำเขื่อนเพียงพอใช้ฤดูแล้งหน้า ซึ่งระดมทำทุกหน่วยฝนหลวงทั่วประเทศ เช่นที่จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก กาญจนบุรี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น โคราช ระยอง หัวหิน และสงขลา ได้ขึ้นบินทำฝนหลวงต่อเนื่องให้มีน้ำใช้การทุกเขื่อนมากกว่าร้อยละ30-50% โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การ 2,149 ล้านลบ.ม.หรือคิดเป็น 16%
“ทำฝนหลวงได้ตามเป้าหมายขณะนี้เพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลได้ 400 ล้านลบ.ม. แล้ว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบพื้นที่เกษตร จ.ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ และภายในเดือนนี้เติมน้ำอีก 100 กว่าล้านลบ.ม.จากที่กรมชลประทาน ตั้งเป้าให้ปีหน้ามีน้ำทำนารอบแรกได้เต็มพื้นที่ พร้อมกับเติมน้ำ 4 เขื่อนหลัก ขณะนี้มีน้ำใช้การ 7,800 ล้านลบ.ม. คาดว่าได้ถึง 8 พันล้านลบ.ม. เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะวางนโยบายกำหนดพื้นที่เพาะปลูก อีกครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค.เพื่อวางแผนเพาะปลูกล่วงหน้า “นายสุรสีห์ กล่าว
นายสุรสีห์ฯ กล่าวว่า การขยายแผนฝนหลวง ถึงสิ้นเดือนต.ค. ซึ่งยังมีร่องฝนอยู่ส่งผลทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพเพิ่มปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งเริ่มวันที่ 1 พ.ย. 59 โดยขณะนี้แม้ช่วงฤดูก็ยังน่าห่วงปริมาณน้ำใช้การเขื่อนภาคอีสาน เช่นเขื่อนลำตะคอง ได้ฝนมาบ้าง แต่มีน้ำใช้การเพียง 16% ถือว่ายังน้อย รวมทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ ลำแซะ จุฬาภรณ์ มูลบน ได้ย้ายหน่วยฝนหลวง จากลพบุรี ไปช่วย หน่วยฝนหลวงที่ จ.บุรีรัมย์ และมีหน่วยฝนหลวงที่ โคราช ขอนแก่น ทำฝนหลวงเพิ่มน้ำเขื่อนภาคอีสานตอนล่าง
ในส่วนภาคตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ์ ถือว่าดีขึ้น มีน้ำใช้การ 36% แต่เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำใช้การ 28% โดยใช้หน่วยฝนหลวงจ.กาญจนบรี เติมน้ำ รวมถึงภาคใต้มีเขื่อนบางลาง จ.นราธิวาส มีน้ำใช้การ แค่ 11% ใช้หน่วยฝนหลวง หาดใหญ่ ไปเติมน้ำ เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำใช้การ 22% ปราณบุรี 11%ใช้หน่วยฝนหลวง หัวหิน เติมน้ำ