ในแต่ละปี สังคมไทยสร้างขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมากกว่า 27.93 ล้านตันต่อปี ประเมินกันว่ามีเพียงร้้อยละ 26 หรือประมาณ 10.85 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการโดยมีบางส่วนถูกนำไปแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการ หรือถูกทิ้งกองเป็นขยะมูลฝอยตกค้างซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ไฟไหม้บ่อขยะ ปัญหาเรื่องกลิ่น สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในขณะที่พื้นที่ ที่จะใช้ในการฝังกลบขยะกลับหายากขึ้นเพราะถูกต่อต้านจากชุมชน ขยะมูลฝอยจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าขยะมูลฝอยสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าโครงการ
ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ในกองขยะมูลฝอยที่ถูกนำมาฝังกลบจะมีทั้งส่วนที่สามารถย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ส่วนที่ย่อยสลายได้ (เศษอาหาร และอินทรีย์สารต่างๆ) ที่มีประมาณร้อยละ 50 จะถูกย่อยสลายกลายเป็นวัสดุคล้ายดิน ซึ่งสามารถคัดแยกแล้วนำไปใช้ทดแทนดินเพื่อปิดกลบทับขยะได้ ผลจากการย่อยสลายขยะส่วนที่ย่อยสลายได้ จะเกิดเป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับขยะมูลฝอยที่ถูกฝังกลบอีกประมาณร้อยละ 50 เป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ มักเป็นถุงพลาสติกชนิดต่างๆ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ภาคเอกชนสนใจที่จะมาลงทุนขุดรื้อร่อนเพื่อนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel, RDF) “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” จึงได้พัฒนาแนวทางการประเมิน RDF ที่สามารถรื้อร่อนได้
โดยใช้เทคนิคการตรวจวัดแบบผสมผสาน ประกอบด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ในการประเมินองค์ประกอบขยะ การตรวจวัดค่าความร้อนจากผิวกองขยะด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนติดตั้งบน UAV และการตรวจวัดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนด้วย Laser Methane Detector เพื่อประเมินสภาพการย่อยสลายของขยะ รวมถึงการนำเทคนิคการสร้างแผนที่ความละเอียดสูงด้วยภาพถ่ายที่ได้จาก UAV มาใช้ประเมินปริมาตรของขยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานทำให้ได้ข้อมูลศักยภาพการพัฒนาโครงการลงทุนที่มีความแม่นยำสูง สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจว่ากองขยะที่ถูกฝังกลบมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อผลิตเป็นพลังงานหรือไม่
ผลจากการสำรวจทำให้ได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง และเมื่อนำมาคำนวณด้วยสมการที่คิดขึ้นมาจะทำให้ทราบว่ากองขยะแต่ละแห่งมีปริมาณ RDF อยู่เท่าไร และจากข้อมูลทั้งค่าความชื้น ค่าความร้อน ค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าฯ ที่ได้จากการสำรวจเป็นหมื่นๆ จุดจากกองขยะแต่ละแห่ง สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นรูปตัดที่สามารถระบุพิกัดได้ว่าแต่ละจุดมีปริมาณขยะพลาสติกอยู่เท่าไร พื้นที่ตรงไหนมีน้อย พื้นที่ตรงไหนมีมากพอที่จะลงทุนขุดรื้อร่อนได้ ดังนั้น ข้อมูลที่ได้มาจึงสามารถบอกได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าในบ่อขยะแต่ละแห่งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในการขุดรื้อร่อนขยะพลาสติกเพื่อนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงขยะหรือไม่ ลักษณะทางกายภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งเป็นอย่างไร มีศักยภาพในการขุดรื้อร่อนขยะอย่างไร บางแห่งอาจจะเหมาะสมสำหรับการขุดรื้อร่อนเพื่อนำขยะพลาสติกไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ แต่บ่อขยะบางแห่งลักษณะทางกายภาพไม่เหมาะสมสำหรับการขุดร่อนรื้อขยะ แต่เหมาะสมสำหรับการรวบรวมก๊าซขยะ (Landfill Gas, LFG) ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน โดยพบว่า บ่อขยะหลายๆ แห่ง ก็มีปริมาณก๊าซขยะมากพอที่จะทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้
ดังนั้น ข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสำรวจบ่อขยะทั้งที่เป็นบ่อขยะแบบเทกองกลางแจ้ง (Open Dump) และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เพื่อประเมินศักยภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ ตลอดจนความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการ และเป็นแนวทางในการพิจารณาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป
จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนทำธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ ดังนี้ 1.บ่อขยะที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจมีเยอะมาก เพราะส่วนมากเป็นบ่อขนาดใหญ่,2.เนื่องจากบ่อขยะที่สำรวจวิจัยมีทั้งบ่อที่เป็นแบบเก่า ทั้งแบบเทกองกลางแจ้ง และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล แต่ละแบบมีศักยภาพในการทำธุรกิจได้ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นกับระยะเวลาในการฝังกลบ เพียงแต่ก่อนเริ่มทำเราต้องสำรวจพื้นที่ก่อนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ,3.ปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงขยะควรมีปริมาณอย่างต่ำ 200,000 -300,000 ตัน,4.ระยะทางระหว่างบ่อขยะไปถึงลูกค้าปลายทางที่ใช้เชื้อเพลิงขยะไม่ควรเกิน 400 กิโลเมตร และ 5.บ่อที่มีความเหมาะสมในการรวบรวมก๊าซขยะ ควรเป็นบ่อขยะที่มีอายุการฝังกลบมาแล้ว 3-5 ปี เพราะขยะยังมีการย่อยสลายอยู่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการระบายน้ำชะมูลฝอยในบ่อขยะว่าดีมากน้อยเพียงไร ซึ่งการสำรวจด้วยเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ก็สามารถให้คำตอบได้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน