สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังประกาศเจตนารมณ์มุ่งยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตั้งเป้าขยายและเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ PM 2.5 แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องในภาพรวมของประเทศไทย
วันที่ 29 กันยายน 2564 : ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและขยายเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 5 หน่วยงาน ร่วมเป็นพยาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาจัดการปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีผลกระทบอย่างสูงต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพของประชาชน รวมถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้เกิดการต่อยอดและขยายผลการนำเอาชุดข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ (วช.) ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย
การดำเนินงานมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยจะนำข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศของแต่ละหน่วยงานมาพัฒนาเป็นศูนย์ข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกัน โดยมุ่งติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่มเติมในพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มภาคี เพื่อขยายพื้นที่เครือข่ายข้อมูลฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงและแสดงผลบนแพลตฟอร์มที่สามารถดูข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ โดยจะให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
ภายในงานมีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมช่วยลดโลกรวน #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์อยู่ในแวดวงด้านคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน),ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM 2.5,ดร.นณธภัทร ธีระวรรธนะสิริ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (กฟผ.) มาร่วมแชร์ประสบการณ์ พร้อมอัพเดทข้อมูลนวัตกรรม และแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงทิศทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือ และรวมพลังในทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม สร้างอากาศบริสุทธิ์ เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน