กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จัดพิธีส่งมอบหุ่นยนต์บังคับขนาดเล็กสำหรับใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แก่โรงพยาบาล 6 แห่ง โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการส่งมอบ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.),ผู้ช่วยศาสตตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.),นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.),ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะผู้บริหารหน่วยงาน (อว.) เข้าร่วมงาน
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการส่งมอบหุ่นยนต์บังคับขนาดเล็ก (หุ่นยนต์ปิ่นโต 2) สำหรับใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในระยะแรก จำนวน 12 ตัว ให้แก่โรงพยาบาล 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก,สถาบันประสาทวิทยา,โรงพยาบาลลาดกระบัง,สถาบันบำราศนราดูร,โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์
การเปิดกิจกรรมการส่งการมอบหุ่นยนต์ปิ่นโต 2 จำนวน 80 ตัว ให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ,ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ที่มีความจำเป็นในการใช้หุ่นยนต์ช่วยส่งอาหารและเวชภัณฑ์ในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยมี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้สนับสนุนทุนพัฒนาให้กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ปิ่นโต 2 ดังกล่าว เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรคติดต่ออันตรายและช่วยลดปริมาณการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น ชุด PPE เป็นต้น
สำหรับหุ่นยนต์บังคับขนาดเล็กที่ใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือ “หุ่นยนต์ปิ่นโต 2” นั้น เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์ปิ่นโต ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคุณสมบัติเด่นที่นำไปใช้ขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยการใช้รถเข็นควบคุมทางไกล ควบคุมผ่านทางรีโมทคอนโทรลระยะไกลได้ อีกทั้งมีระบบแสดงผลการเคลื่อนที่ผ่านจอแสดงผลเพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความเสียหายของอุปกรณ์ขณะใช้งาน สามารถใช้ได้ติดต่อกันนานถึง 9 ชั่วโมง และเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อช่วยลดการสัมผัสและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ และยังช่วยลดการใช้ชุด PPE ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน