ศาสตราจารย์(พิเศษ) นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานโครงการ U2T หรือโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงอว.ภูมิใจ เนื่องจากเป็นการส่งมหาวิทยาลัยไปพัฒนาตำบล โดยใช้พลังความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการจ้างงานของบัณฑิตระยะเวลา 6เดือน (1ก.พ.-31 ส.ค.)ที่ผ่านมาเฉลี่ยเดือนละ56,413 คน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบัณฑิตนักศึกษามีงานทำมีรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในเวลาเดียวกันเป็นการพัฒนาคนที่เข้าร่วมโครงการให้มีทักษะ 4 ด้าน คือ ดิจิทัล ภาษาอังกฤษ การเงินและสังคม พร้อมที่จะไปพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างของโครงการและกิจกรรมที่กระทรวงอว.ดำเนินการในเวลานี้
นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนคือมหาวิทยาลัยรู้ว่ารัฐจะต้องรับผิดชอบในพื้นที่ใดและมีเป้าหมายโดยตรงที่จะเข้าสู่การพัฒนา ดังนั้นมีกลไกในการเลือกพื้นที่รับผิดชอบชัดเจน ฉะนั้น 1 ตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงและเมื่อเข้าไปดูแลแล้วจะมอบผู้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการจ้างงานเกิดขึ้น โดยปัจจุบันมี 3,000 ตำบลที่ร่วมโครงการจากทั่วประเทศกว่า 7,000 ตำบล คิดเป็น 40% ซึ่งมีการจ้างงาน 3 กลุ่มด้วยกัน 20 คนต่อตำบล ตั้งแต่บัณฑิตที่จบใหม่ นิสิตนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในพื้นที่ให้มีการจ้างงานในพื้นที่ โดยบุคคล 20 คนเป็นทีมอว. ที่จะไปพัฒนาและเก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อดูว่าควรจะทำอะไรที่จะพัฒนาในพื้นที่นั้น จากนั้นมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะมาประมวลว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อไปพัฒนาด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ ทั้งนี้จากโครงการดังกล่าวได้เห็นความสำคัญของพลังนิสิต นักศึกษา เยาวชนและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ร่วมในโครงการได้เกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน
นพ.สิริฤกษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในตอนท้ายยังมีโครงการHackkathon ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเสนอแนวคิดและวิธีการพัฒนาซึ่งหากผลจากโครงการไปแล้วผลที่จะได้ตอบรับตามมาคือประเทศไทยมีการพัฒนามากยิ่งขึ้นซึ่งถือเป็นการพัฒนาเหมือนการสร้างราแก้วให้กับประเทศซึ่งไม่ได้เป็นการพัฒนาเฉพาะหน้าแต่เป็นการวางรากฐานในระยะยาว
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงาน มีการสร้างรายได้และคนนอกโครงการได้ประโยชน์จากการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนที่อยู่ในโครงการ 50,000 คน และจะได้เป็นเงินเดือนอยู่ในกระเป๋าจากผู้ที่ถูกจ้างงานเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกหมุนเวียนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ใน 3,000 ตำบลทั่วประเทศ นอกจากนี้สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือการที่จะได้ทำงานคนเหล่านี้หลังจากเรียนจบกว่า 60,000 คนมีงานทำ ซึ่งถ้าไม่มีโครงการดังกล่าวในช่วงวิกฤติโควิด-19 อาจจะตกงานก็ได้ นอกจากนี้ยังมีผลงานจากโครงการที่กระจายไปทั่วประเทศกว่า 10,000 ผลงาน โดยบางโครงการ ยกตัวอย่างเช่น ในบางพื้นที่มีการนำเปลือกหอย กากมะพร้าว เปลือกทุเรียนไปแปรสภาพเป็นสินค้าที่มีมูลค่า นำไปขายและสร้างรายได้ ซึ่งประโยชน์ก็เกิดขึ้นในพื้นที่ ฉะนั้นโครงการดังกล่าวได้กับคนที่ร่วมโครงการและคนภายนอกโครงการด้วย