สธ.ยัน2ใน3เด็ก‘หัวเล็ก’
ติดเชื้อ‘ซิกา’
รับเป็นเคสแรกของไทย
น่าห่วงแม่ไม่แสดงอาการ
สั่งตั้งกก.เฝ้าระวังคนท้อง
‘ซีดีซี’เตือนลามเข้าเอเชีย
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ด้านระบาดวิทยา กุมารแพทย์ เวชศาสตร์ป้องกันโรค เพื่อพิจารณากรณีพบทารก 3 รายคลอดออกมามีศีรษะเล็ก เกิดจากติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ พร้อมหาแนวทางป้องกัน
หลังประชุม ศ.เกียรติคุณนพ.ประเสริฐแถลงว่าา จากกรณีดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เก็บปัสสาวะและน้ำเหลืองของทารกที่คลอดแล้วและมีศีรษะเล็กทั้ง 3 รายส่งตรวจในห้องปฎิบัติการ พบว่า รายแรกมีการยืนยันจากการกรวดน้ำเหลืองหาภูมิคุ้มกันขั้นต้นที่จำเพาะต่อการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ไอจีเอ็ม (IgM) ปรากฎผลเป็นบวก แสดงว่ามารดาติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และรายที่ 2 ตรวจปัสสาวะด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ซึ่งเป็นกระบวนการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอ พบผลเป็นบวกเช่นกัน แสดงว่ามารดาติดเชื้อและมีผื่นเกิดขึ้น แต่เป็นการสอบถามย้อนหลัง
ขณะที่รายที่ 3 มีภาวะศีรษะเล็ก แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ ต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้ง เนื่องจากภาวะศีรษะเล็กไม่ได้เกิดจากติดเชื้อซิกาเท่านั้น แต่ยังเกิดจากเชื้ออื่นๆอีก อาทิ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน ไวรัสเริม หรือเกิดจากมารดาสัมผัสสารเคมี สารพิษ สารหนู ปรอท ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมถึงความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เป็นพันธุกรรม เป็นต้น สำหรับรายที่ 4 แม่ติดเชื้อซิกา แต่ไม่มีอาการ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันว่าเด็กมีภาวะศีรษะเล็กในครรภ์ได้ ต้องติดตามต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า ทารกศีรษะเล็ก 2 รายเกิดจากติดเชื้อซิกา ถือเป็น 2 รายแรกของไทย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐยอมรับว่า จะกล่าวเช่นนั้นก็ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจหาเชื้อดังกล่าวในเด็กศีรษะเล็กของประเทศไทย แต่ปีนี้มีความเข้มข้นในการตรวจหาเชื้อมากขึ้น จึงไม่ทราบว่ามีมาก่อนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เด็กศีรษะเล็กจากซิกาถือเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีข้อมูลวิชาการการศึกษาใดๆ ที่ผ่านมาสหรัฐเคยมีข้อมูลกว้างๆ ไม่จำเพาะว่าเกิดจากซิกา โดยโอกาสเด็กศีรษะเล็กอาจเกิดได้ 2-12 รายต่อเด็กเกิดมีชีพ 10,000 ราย ขณะที่ประเทศไทย ปี2557 มีทารกศีรษะเล็ก 31 ราย คิดเป็น 4.36 รายต่อเด็กเกิดมีชีพแสนราย และมีเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็ก 159 ราย คิดเป็นความชุกที่ 22.34 รายต่อประชากรแสนราย
“สรุปในประเทศไทยมีเด็กศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย ซึ่งเป็นไปตามที่อเมริกาใต้เคยพบเด็กหัวเล็กจากซิกา 1-30 % โดยไทยหากพบ 1% จะพบ 3 ราย แต่ขณะนี้พบเพียง 2 ราย คณะกรรมการวิชาการฯ จึงเสนอให้สธ.ดำเนินการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง อีกทั้ง ต้องปรับปรุงแนวทางจัดการหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วยซิกาให้เข้มข้นขึ้น รวมถึงต้องมีระบบคัดกรองเด็กศีรษะเล็กในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย และให้ตั้งคณะกรรมการจัดการแนวทางของหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสซิกา หรืออาศัยในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อซิกา โดยมี นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เป็นประธาน จัดทำแนวทางดังกล่าว” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าว
และว่า สิ่งสำคัญขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย และหญิงตั้งครรภ์ก็ต้องป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด และตลอดตั้งครรภ์ต้องป้องกันไวรัสซิกา หากมีเพศสัมพันธ์กับสามีต้องให้คู่สวมถุงยางอนามัย เพราะเชื้อผ่านน้ำอสุจิได้
ส่วนกรณีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ(ซีดีซี)ออกคำเตือนห้ามหญิงตั้งครรภ์เดินทางมา 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบเชื้อซิการวมทั้งไทยนั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า มีความเสี่ยงทุกประเทศทั่วโลกเท่ากันหมด แม้แต่สหรัฐก็พบทารกที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กมา 1 ปี ซึ่งเจอเกือบทุกรัฐ รวมทั้งเตือนหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้เดินทางข้ามรัฐ เช่น ฟอลิด้า และไมอามี
ด้านนพ.ทวีกล่าวถึงแนวทางจัดการหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อซิกานั้น ได้จัดทำไว้แล้ว แต่กรณีนี้จะเจาะลึกลงไปกรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ซึ่งจะเข้าข่ายเหมือนกรณีล่าสุด มี 1 รายพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ จะมาทราบก็ต่อเมื่อซักถามย้อนหลังจนพบว่า มีผื่นขึ้น เรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจาก 80% ไม่แสดงอาการ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนววินิจฉัยอย่างไร รวมไปถึงเมื่อตั้งครรภ์แล้วจะทราบได้เมื่อใดว่า ทารกมีความเสี่ยง ซึ่งจะพิจารณาถึงกรณียุติการตั้งครรภ์ เพราะมีเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า คนปกติในผู้ใหญ่ เด็ก ทุกเพศทุกวัยยังต้องระวังเรื่องไขเส้นหลังอักเสบ และสมองอักเสบ ซึ่งมีอาการหายใจไม่ค่อยได้ แขนขาอ่อนแรง พบว่ามีคนไทยป่วยแล้ว 1 ราย มีสาเหตุจากซิกา แต่รายนี้รักษาหายดีแล้ว ดังนั้น ทุกคนต้องระวังอย่าให้ยุงกัดเป็นดี
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ออกคำแถลงยืนยันพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาขยายวงเข้าสู่ 11 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว พร้อมออกคำเตือนให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางมาภูมิภาคอาเซียน