จีนขาดแคลนแรงงานหนัก
จีนกำลังเผชิญกับภาวะ “ขาดแคลนแรงงาน” (“用工荒”) ในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งๆ ที่จีนมีประชากรมากกว่า ๑.๔๑ พันล้านคน จึงเกิดคำถามว่าเหตุใดโรงงานของจีนจึงยังตกอยู่ในภาวะการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สาเหตุของภาวะ “ขาดแคลนแรงงาน” นั้น มีความสัมพันธ์กับจำนวนประชากร กล่าวคือ ในปีนี้ตามข้อมูลสำมะโนประชากร ครั้งที่ ๗ ของจีน ระบุว่า ด้านอายุของประชากร ปัจจุบันประชากรอายุระหว่าง ๑๕ – ๕๙ ปี มีจำนวนประมาณ ๘๙๔ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๓๕ ของประชากรทั้งหมด ประชากรกลุ่มนี้เป็นวัยแรงงานของจีน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากสำมะโนประชากร ครั้งที่ ๖ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วพบว่า สัดส่วนประชากรกลุ่มอายุดังกล่าวลดลง ร้อยละ ๖.๗๙ ในขณะที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่กำลังแรงงานอายุน้อยค่อย ๆ ลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะขาดแคลนแรงงาน ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการผลิต ความต้องการแรงงานจึงเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนแรงงานที่ลดลงได้นำไปสู่ “อุปทานแรงงานขาดแคลน“ (“供不应求”)
๒. อีกสาเหตุหนึ่งของภาวะ “ขาดแคลนแรงงาน” คือ การที่คนหนุ่มสาวไม่อยากทำงานโรงงานและโรงงานไม่รับแรงงานวัยกลางคน ทั้งนี้ เนื่องจากคนหนุ่มสาวในปัจจุบันมีการศึกษาสูงขึ้นเรื่อย ๆ และคนหนุ่มสาวที่มีวุฒิการศึกษาสูงมักไม่เต็มใจทำงานโรงงาน โดยคนหนุ่มสาวที่มีวุฒิการศึกษาสูงมักไม่ทำงานในโรงงานที่มีเกณฑ์รับเข้าทำงานต่ำ แต่แรงงานวัยกลางคนบางคนที่เกิดในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ ถึงแม้พวกเขาจะอยากทำงานโรงงาน แต่โรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่เต็มใจที่จะจ้างงาน เพราะต้องการคนหนุ่มสาวที่มีพลังงานทางกายภาพมากกว่าคนประเภทนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโรงงาน
บทสรุป ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดปัญหาการ “ขาดแคลนแรงงาน” ของโรงงาน หากต้องการแก้ปัญหานี้ ต้องพยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของโรงงานและเพิ่มเงินเดือน รวมทั้งผลประโยชน์ของพนักงาน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ในอนาคตเมื่อต้นทุนของระบบอัตโนมัติได้ลดลงเรื่อยๆ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.kuaidongbaike.com/34196.html )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบัน ศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
17/9/64