ความสมดุลของอำนาจในแปซิฟิกตะวันตกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจีนพยายามสร้างกองทัพที่สามารถเอาชนะสหรัฐฯ ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมาก โดยเฉพาะการขยายขีดความสามารถในการดำเนินการโจมตีระยะไกลและกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว
ดังนั้น สหรัฐฯ จึงได้เปลี่ยนท่าทีการตอบโต้โดยการกระจายกองกำลังต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อความคล่องตัวยิ่งขึ้น และมุ่งเน้นไปที่การใช้กองกำลังขนาดเล็กที่คล่องแคล่วในการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องในบริเวณใกล้เคียงกับกองกำลังที่เป็นศัตรูในขณะที่ทำการยิงระยะไกลด้วยความแม่นยำ เช่น ขีปนาวุธอากาศสู่พื้นผิวระยะไกล และขีปนาวุธร่อน Tomahawk Block V รวมทั้งการป้องกันขีปนาวุธ โดยใช้ระบบภาคพื้นดินได้แก่ Aegis Ashore และ Terminal High Altitude Area Defense System และระบบป้องกันขีปนาวุธ Aegis Ballistic Missile Defense System ในทะเลพร้อมเรดาร์ SPY-6 ใหม่ เป็นต้น
ในขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งกังวลกับการพัฒนากองทัพของจีนและภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ โดยได้เน้นการปรับปรุงกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (JSDF) ทั้งในด้านคุณภาพและเชิงปริมาณ และพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติการปกป้องทั้งดินแดนและน่านน้ำโดยรอบ รวมถึงการแสดงกำลังอำนาจทางทหาร โดยการซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 จำนวน 147 ลำ และวางแผนที่จะซื้อเครื่องบินลำเลียงแบบ V-22, เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ P-8 ฯลฯ จากสหรัฐฯ ขณะที่ฝูงบิน F-15J ของญี่ปุ่นก็ได้รับการอัพเกรดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่และติดตั้งอาวุธขั้นสูง ตลอดจนดัดแปลงเรือพิฆาตชั้น Izumi สองลำให้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กที่สามารถรองรับกับ F-35B ที่บินขึ้นระยะสั้น/แนวตั้งได้ รวมถึงโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาและติดตั้งดาวเทียมเตือนภัยขีปนาวุธขนาดเล็กที่มีวงโคจรต่ำอีกด้วย
สรุปโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://nationalinterest.org/blog/reboot/china-rises-so-does-importance-us-japan-alliance-193374 )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
16/9/2021