ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ รองผู้บังคับการ กองร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (รอง ผบก.รท. สง.ก.ตร.) ได้ยื่นหนังสือ ให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) กรณีที่เคยถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ที่เคยถูกกล่าวหา เรียกรับส่วยคาราโอเกะ ของตำรวจ ปคม. เมื่อปี 2554
โดยพ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งในขณะนั้นคือ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปรามการการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) ได้ถูกนายเขตสยาม เนาวรังสี เจ้าของร้านอาหาร และคาราโอเกะ ชื่อร้านโบร์ลิ่งเบียร์คาราโอเกะ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ร้องเรียนเรื่องรับส่วย โดยเข้าร้องเรียน ต่อ พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น และพลตำรวจโท พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในขณะนั้น
จากนั้นพลตำรวจเอก วิเชียรฯ ได้สั่งการให้จเรตำรวจ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบสวนข้อเท็จจริงตามลำดับ ตามคำสั่งสืบสวนข้อเท็จจริงที่ 1/2554,คำสั่งเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการที่ 3/2554,48/2554 และ 59/2554 ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงมีมูลว่ากระทำผิดวินัย ผิดอาญา จึงเสนอสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคือ พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เพื่อพิจารณาสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
ในขณะที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้สั่งให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยแต่งตั้งคำสั่งตรวจสอบตามคำสั่ง ปคม.ที่ 206/2553 ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงยังตรวจสอบ ยุติเรื่องบางส่วน เพราะมีบางข้อหาเช่นกรรโชกทรัพย์ ที่ไม่สามารถเสร็จสิ้นได้
ต่อมา พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ในขณะนั้นได้ฟ้อง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี กับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่ 2826/2554 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ภายหลังศาลได้ยกคำฟ้องในชั้นใต่ส่วนมูลฟ้องบางคนและเมื่อถึงชั้นอุทธรณ์ก็ได้ยกคำฟ้องทุกคน
แต่สำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงจเรตำรวจที่ 1/2554,คำสั่งเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการที่ 3/2554,48/2554 และ 59/2554 และสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปคม.ที่ 206/2553 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2558-พฤษภาคม 2558 ได้มีกลุ่มชายกลุ่มหนึ่งได้ไปพาตัวนายเขตสยาม เนาวรังสี ไปกักขังไว้ในที่พักแห่งหนึ่ง และคอยดูแลตัวนายเขตสยามฯ ไว้
หลังจากนั้น กลุ่มชายฉกรรจ์ ได้พาตัวนายเขตสยามฯ มาเบิกความต่อศาลอาญาในกลางเดือนมีนาคม 2558 (ปรากฏตามภาพถ่ายมีตำรวจคอยดูแลควบคุมไว้ตลอดเวลาขณะอยู่หน้าบัลลังค์ของศาลอาญา) โดยกลับคำให้การ โดยมีการจัดทำเอกสารรับสารภาพให้นายเขตสยามฯ ลงชื่อนำไปแสดงต่อศาล ระหว่างอยู่ที่ศาลมีตำรวจคอยดูแล ควบคุมตัวไว้ตลอดเวลา หลังจากนั้นก็ได้ปล่อยตัวนายเขตสยามฯ กลับบ้านไป ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 นายเขตสยามฯ ได้เสียชีวิตลง โดยมีพิรุธข้อสงสัยว่าเสียชีวิตได้อย่างไร เพราะก่อนหน้านั้นมีสุขภาพแข็งแรง หรือหากมีโรคประจำตัว ปัจจุบันก็มียาสามารถรักษาให้หายได้
การกระทำของกลุ่มชายที่ไปจับตัวนายเขตสยามฯ โดยจัดที่พักคอยดูแล ทั้งๆที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องคดี ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้คุ้มครองพยาน จึงเป็นการบังคับขู่เข็ญ หลอกลวงให้คำมั่นสัญญา หรือกระทำมิชอบด้วยประการใด เกี่ยวกับพยานบุคคล พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถนำไปใช้ได้ แม้จะนำตัวนายเขตสยามฯ ไปเบิกความกลับคำให้การต่อศาลอาญา ก็เป็นการชี้นำพยาน และเป็นไปเพราะอยู่ระหว่างการบังคับขู่เข็ญ หลังจากนั้นนายเขตสยามฯ ได้เสียชีวิตก็น่าสงสัยว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นเพราะกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพราะก่อนหน้านั้นมีสุขภาพแข็งแรง หรือหากเป็นโรคปัจจุบันก็มียารักษา สามารถรักษาให้หายได้ ยังถือว่าเป็นความผิดฐาน “ก่อให้ผู้อื่นให้การเท็จในคดีอาญาต่อศาล ป.อาญา 180 ว.2 ประกอบ 84”
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ รองผู้บังคับการกองร้องทุกข์ จึงได้ยื่นเอกสารร้องเรียนให้ ผบ.ตร. ทำการทบทวนสำนวนการสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะพบหลักฐานการบังคับขู่เข็ญ ให้คำมั่นสัญญา กระทำมิชอบด้วยประการใดๆ ต่อพยานหลักฐานในรายของนายเขตสยามฯ และให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของนายเขตสยามฯ หรือตรวจสอบว่ากลุ่มชายดังกล่าว กระทำผิดกฎหมายใดๆ หรือเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายเขตสยามฯ หรือไม่ หากเกี่ยวข้องกับการกระทำให้เสียชีวิตหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันผิดกฎหมาย ก็ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มชายดังกล่าวตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ทั้งนี้ พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ฯ ยังเตรียมเดินหน้าร้อง (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายตำรวจระดับสูงรายนี้ ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน