โดยมี รมว.ดีอีเอส และอดีต ผบ.ตร.ร่วมแสดงความยินดี พร้อมเผยเรื่องแฮ็กข้อมูลพบอยู่ที่อเมริกา เตรียมประสานอเมริกา และตำรวจสากลสืบสวนติดตามตัวแล้ว
วันที่ 9 กันยายน 2564 ที่บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี : พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ได้จัดพิธีบวงสรวงถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถานปนา บช.สอท. ครบรอบ 1 ปี โดยมีรองผู้บัญชาการ,ผกก.,รองผกก. และชมรมแม่บ้านตำรวจ บช.สอท. โดยในพิธีมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เดินทางมาเป็นประธาน โดยมี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท.,รองผู้บัญชาการ,ผู้บังคับการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท.ในครั้งนี้ด้วย
นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการติดตามกลุ่มแฮกเกอร์ที่เจาะระบบโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และอีกหลายหน่วยงานว่า ได้มีการสนับสนุนงบประมาณ และให้เจ้าหน้าที่อบรมร่วมกัน เพื่อป้องกันและปราบปราม ภัยไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงกรณี ของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ที่ได้รับความเสียหาย โดยขณะนี้มีกฎหมายที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และพ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ
นอกจากนี้จะประสานไปยังหน่วยงาน ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเจาะระบบฐานข้อมูลของหน่วยงาน ซึ่งอาจเกิดจากที่ไม่ถนัดเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้มีระบบการป้องกัน การเจาะฐานข้อมูล ที่ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้หลายองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีการป้องกันภัยไซเบอร์ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น จึงร่วมมือกับ บช.สอท. เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
ด้านพล.ต.ท.กรไชยฯ เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น ได้ให้ตำรวจไซเบอร์ตรวจสอบ หาต้นตอของเว็บไซต์ดังกล่าว โดยช่วงแรกพบว่า เว็บไซต์ที่ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย และมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่สิงคโปร์ แต่จากการสืบสวนล่าสุด พบว่ากลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าว แท้จริงอยู่ในประเทศสหารัฐอเมริกา ขณะนี้เตรียมประสานกับหน่วยงาน ในสหรัฐ และหน่วยงานสากล ช่วยสืบสวนติดตาม กลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าว ให้กับทางการไทยแล้ว
ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กรณีที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เกิดขึ้นจากทางโรงพยาบาลมีการโหลดใช้ข้อมูลของโปรแกรมฟรีที่ชื่อ “จูมล่า” โดยไม่ได้ตั้งค่า IP ต่างประเทศ จนทำให้กลุ่มแฮกเกอร์สามารถเจาะระบบเข้าไปภายในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล และค่อยๆ ขโมยข้อมูลออกไปขายผ่านทางเว็บไซต์ จนเกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้น และเชื่อว่าอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นก็มีสาเหตุมาจากโปรแกรมเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อีกเป็นจำนวนมาก กว่าที่เป็นข่าวในขณะนี้ ถูกโจมตีโดยกลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าว อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ซีพีเฟรชมาร์ท และอีกหลายโรงพยาบาล ซึ่ง ตำรวจ สอท.พบว่า มีชื่ออยู่ในลิสต์การขายข้อมูลของเว็บไซต์ ซึ่งตำรวจไซเบอร์จะเร่งเข้าไปตรวจสอบและให้การช่วยเหลือทันที หากมีการร้องขอ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว อยู่ในเป้าหมายการดำเนินการของกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ที่จะต้องดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง โดยจะเน้นไปที่ภัยการเจาะระบบข้อมูล ที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย โดยขณะนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาในคดีต่างๆ 2,472 คดี ได้ตัวผู้ต้องหา 3,015 คน โดยเฉลี่ยวันละ 10 คดี สำหรับในอนาคตจะมีการเปิดให้แจ้งความได้ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงแจ้งผ่าน สถานีตำรวจในพื้นที่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาที่ บช.สอท. โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน