จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพเหตุการณ์ที่กลุ่มชายฉกรรจ์ ร่วมกันทำร้ายร่างกายและข่มขู่ชายคนหนึ่งด้วยวิธีการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวเพื่อทรมาน ให้ต้องยินยอมทำตามความประสงค์ ซึ่งภายหลังได้ข้อยุติว่าเป็นเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันซ้อมทารุณผู้ต้องหา โดยเหตุเกิดที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ โดยชายผู้ถูกทำร้ายเสียชีวิต
การกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง โดยการการทรมาน (Torture) ซึ่งเป็นสิทธิ์เด็ดขาด (Absolute Right) ปรากฏใน “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel,Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT)” ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา การลงโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการใดที่มีลักษณะการทรมานมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะและไม่สามารถจะยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่อให้พ้นจากความรับผิดได้
นอกจากนี้ยังพบเห็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ชอบ ทั้งการรับแจ้งความ การสืบสวน การสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน การจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งมักมีข้อกังขาในการใช้อำนาจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การซ้อมการทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ การประจานผู้ต้องหาต่อสาธารณชน การวิสามัญฆาตกรรม รวมถึงการใช้อำนาจ กำลัง และอาวุธในการปราบปรามผู้เห็นต่าง เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ควรแก่การแก้ไขปรับปรุงโดยเร็ว
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1 โดยผู้มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ ขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักในความพยายามหาทางแก้ไข ป้องกัน มิให้ประชาชนต้องถูกกระทำดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะที่เป็นต้นน้ำแห่งกระบวนการยุติธรรม ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จริงใจในการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง โดยปราศจากการแทรกแซงช่วยเหลือ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยเร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1 ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร เร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจ และแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยปรับงานสอบสวน งานพิสูจน์หลักฐาน ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดปัญหาการรวบอำนาจการดำเนินคดีอาญาชั้นต้น อันส่งผลให้เกิดปัญหาการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การสร้างพยานหลักฐานเท็จ รวมทั้งการผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการซ้อมทรมาน ที่ค้างการพิจารณาในคณะกรรมาธิการ และอื่นๆ ที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยมาช้านานให้หมดสิ้นไป
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1 หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวอย่างจริงใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และประชาชน และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สืบไป
รายชื่อผู้ร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์
1.นายกฤษณ์ ขำทวี
2.นายสมชาย จรรยา
3.นายนรเทพ บุญเก็บ
4.นายศุภมา จิตต์เที่ยง
5.นายพิสุทธิ์ รัตนวิลัย
6.นายศิริพันธุ์ เรืองจินดา
7.นายสุทัศน์ ประสิทธิกุล
8.นายภาวุฒิ สุกทอง
9.นางพรทิพย์ เตชะสมบูรณากิจ
10.นายสมิษฐิ์ มหาปิยศิลป์
11.นายสันติพงษ์ มูลฟอง
12.นางเฉลียว ศาลากิจ
13.นายแทนคุณ จิตต์อิสระ
ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2564
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน