วันที่ 25 ส.ค.64 เวลา 14.00 น. : ตัวแทนสมาคมสื่อฯ เข้าหารือ และทำความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยตัวแทนสื่อฯ กล่าวถึง วัตถุประสงค์หลัก คือ ได้ขอให้การทำงานของสื่อฯ เกิดขึ้นบนพื้นที่ปลอดภัยและมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะ อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานวิชาชีพ
ในขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลักสำคัญที่ได้ข้อสรุปร่วมกัน ในระยะสั้น มี 5 ข้อตกลง คือ
1.ปลอกแขนสื่อมวลชน พร้อมระบุสังกัดซึ่งทางสมาคมฯ จะเป็นผู้ออกแบบและแจกแจงให้สื่อมวลชน ในสังกัดต่างๆ ที่ส่งรายชื่อแจ้งความจำนงค์ขอรับปลอกแขน
2.คำว่า สื่อมวลชนในที่นี้คือ สื่อมวลชนที่มีสังกัดชัดเจน,ส่วนสื่อฯอิสระ จะต้องมีสำนักข่าวอ้างอิง มีองค์กร อ้างอิงได้
3.การแจกจ่ายสัญลักษณ์ บอกฝ่ายว่าใครเป็นสื่อมวลชน ทางสมาคมฯ จะเป็นผู้กำหนด โดยจะหารือร่วมกับองค์กรสื่อมวลชน 6 องค์กรหลัก ในระยะยาว
4.ในเบื้องต้น ระยะสั้น ตอนนี้ จะเป็นการอนุโลมให้ใช้สัญลักษณ์เดิมที่มีอยู่
5.ตำรวจและตัวแทนสื่อฯ กำหนดมาตรฐานสีของสื่อมวลชน ร่วมกัน โดยจะยึดสีมาตรฐาน เป็นสีเขียวสะท้อนแสง โดยทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัยในการทำข่าวในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งจะเป็นรูปแบบเสื้อกั้ก เพื่อเป็นการมองเห็นได้ชัดเจนและเห็นได้ในระยะไกล
ขณะที่ ตัวแทนสื่อฯ ยืนยันว่าการสวมใส่สัญลักษณ์บอกฝ่าย เป็นไปเพื่อการทำงาน ทำข่าว อย่างมีสิทธิเสรีภาพ บนพื้นฐานวิชาชีพ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารออกสู่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหลักประกันสิทธิในการนำเสนอข่าว รวมทั้งสามารถจำแนกสื่อฯ ออกจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุมที่แฝงตัวเข้ามาปะปนเพื่อสร้างสถานการณ์หรือแสวงหาผลประโยชน์
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า สื่อมวลชนที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรวิชาชีพจะต้องมีต้นสังกัดหรือกองบรรณาธิการที่สามารถติดต่อได้เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดผลกระทบในการทำงาน เช่น ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีด้วยเหตุเข้าใจผิด หรือ ถูกคุกคามจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ พร้อมขอให้ต้นสังกัดสื่อมวลชนกำหนดแนวทางการทำงานที่มีความปลอดภัยในสถานการณ์วิกฤตโดยยึดถือความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน