วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) : นายอภินันท์ รัตนสุคนธ์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ เป็นตัวแทนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ (ป.ป.ช.) โดยมีนายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และพิสูจน์หลักฐานเบื้องต้น รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักสืบสวน และกิจการพิเศษ ให้ตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยเนื้อหาในคำร้องระบุถึงกรณีพนักงานบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีทส์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไอเฟค (IFEC) ถูกกรรมการผู้บริหารบริษัทฯ กลั่นแกล้งไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างพนักงานเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดปัจจุบันของ บมจ.ไอเฟค ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน ไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ (ก.ล.ต.) กลับทำหนังสือแจ้งพนักงานไอเฟค ว่าไม่พบการกระทำความผิดของคณะกรรมการชุดปัจจุบันของบริษัทฯ แต่อย่างใด โดยมีรายละเอียด อาทิ
1.ประธานกรรมการ บมจ.ไอเฟค ได้แต่งตั้งตนเองดำรง 3 ตำแหน่ง คือ ประธานกรรมการ,ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อันเป็นการผิดหลักธรรมาภิบาล
2.คณะกรรมการ บมจ.ไอเฟค ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัท ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 98 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ดำเนินการจัดประชุมสามัญประจำปี 2562 อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย
3.เรื่องปัญหาการกลั่นแกล้งพนักงานนั้น ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยหลังจากคณะกรรมการชุดปัจจุบันของ บมจ.ไอเฟค ได้เข้ามาบริหารก็ไม่จ่ายเงินเดือนให้พนักงานโดยกล่าวหาว่าไม่ใช่ลูกจ้าง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะบริษัทแม่อย่าง IFEC เท่านั้น ยังเกิดขึ้นกับบริษัทย่อยด้วย จนเป็นข่าวหลายต่อหลายครั้ง ทำให้พนักงานร่วมร้อยกว่าชีวิตและครอบครัว ต้องได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการที่บริษัทไม่จ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ อีกทั้งพนักงานได้ร้อง (ก.ล.ต.) เพื่อปกป้องสิทธิ์ของพนักงานไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากการกระทำของกรรมการชุดนี้ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 89/7 ที่มีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งพนักงานได้ร้องขอความช่วยเหลือต่อ (ก.ล.ต.) มาโดยตลอดตั้งแต่สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ
นอกจากนี้ นิติกรชำนาญการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีคำสั่งให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันของ บมจ.ไอเฟค จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานโดยคดีดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการของไอเฟค ก็ยังคงบิดพลิ้ว โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด ต่อมานิติกรชำนาญการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้แจ้งความร้องทุกข์ในเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ที่ สน.มักกะสัน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 แล้วด้วย
โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บมจ.ไอเฟค ได้ยื่นคำร้องขอขยายฎีกา แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 อธิบดีกรมบังคับคดี ได้มีประกาศฉบับที่ 44/2564 ว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่ยื่นฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานไอเฟคยังคงกังวลใจจนกว่าจะมีการถอนคำร้องขอขยายฎีกาคดีแรงงานทั้งหมด
4.ประธานกรรมการ บมจ.ไอเฟค จงใจไม่ดำเนินการประเมินทรัพย์สินของบริษัทฯ และจงใจปกปิดข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างว่า มีการปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว เช่น กรณียักยอกเงินของกรรมการของศาลอาญา กรณีครอบงำกิจการที่กรรมการถอนคดีตนเองของศาลอาญา และกรณีสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า เขต 2 มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมการเข้า-ออก โดยมิชอบ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในคำร้องยังระบุด้วยว่า พนักงานไอเฟคต่างเดือดร้อนเป็นอย่างมากกับการกระทำของคณะกรรมการชุดปัจจุบันของบริษัทฯ ที่ไร้ธรรมาภิบาลและไร้มนุษยธรรม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย แต่ (ก.ล.ต.) กลับไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่พนักงานไอเฟค จึงมีความจำเป็นต้องร้องเรียนให้ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ (ก.ล.ต.) เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฎิบัติตามกฎหมายและลงโทษผู้กระทำผิด หากมีการปฎิบัติหน้าที่มิชอบหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
ขณะที่ นายอภินันท์ รัตนสุคนธ์ เปิดเผยว่า ตนและพนักงานไอเฟค ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าจาก (ก.ล.ต.) แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ (ก.ล.ต.) “เวิร์ค ฟอร์ม โฮม” มีเพียงผู้อำนวยการฝ่ายการเงินมารับหนังสือแทน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน