ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 ส.ค.64 นี้ คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จะมีการประชุมพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการศาลยุติธรรมประจำปี 2564 ในส่วนที่ยังค้างและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ที่จะมีผลในวันที่ 1ต.ค.64 นี้
โดยวาระที่น่าสนใจคือ กรณีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ช่วยทำงานผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่มีกรณี ยื่นฟ้องนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา และประธานคณะกรรมการตุลาการ เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานประพฤติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลอาญา มาตรา 157 โดยต้องติดตาม ว่า (ก.ต.) จะพิจารณาให้นายปรเมษฐ์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ในปีนี้หรือไม่ หลังจากเลื่อนการพิจารณามาหลายครั้งแล้ว
โดยในปีนี้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม และ (ก.ต.) บางรายที่ยังไม่มีความคืบหน้า อาทิ กรณีที่ประธานศาลฎีกา ลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อกล่าวหาว่าอดีตประธานศาลฎีกา 2 คน และ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน ปรากฎชื่อเป็น 3 คนในผู้พิพากษาของศาลฎีกาในคดีสินบนโตโยต้า
กรณี นายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ได้ประกาศลาออกกลางที่ประชุม เมื่อวันที่ 6 ส.ค.64 ที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ (อ.ก.ต.) เสียงข้างมาก ในการแต่งตั้งผู้พิพากษารายหนึ่ง ให้ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ทั้งที่ถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเข้าไปพัวพันกับการแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จนกระทั่งบริษัทฯ ต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท
กรณีที่นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี,สำนักงาน (ปปช.) และประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และกรรมการ (ก.ต.) เรื่องคัดค้านบัญชีรายชื่อการแต่งตั้ง นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ เนื่องจากมีเหตุสงสัยที่จะมีการกระทำผิดวินัยอันมีลักษณะการหาเสียงเลือกตั้ง (ก.ต.) บุคคลภายนอกครั้งที่ผ่านมาในไลน์ “สภาตุลาการ” ทั้งที่อยู่ในตำเเหน่ง (ก.ต.) แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้
ทั้งนี้ นายปรเมษฐ์ฯ เคยยื่นคำร้องไว้ว่าการพิจารณาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ต้อง พิจารณา ตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสฉบับที่ 4 พศ 256 มาตรา 6/1 บัญญัติว่า ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดให้พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ เมื่อสิ้นงบประมาณนั้น และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส จนกว่าจะพ้นจากราชการตามมาตรา 8/1 และมาตรา 9 บัญญัติว่าข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งจะมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด ให้ (ก.ต.) จัดให้มีการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการ แล้วเสนอผลการประเมินให้ (กต.) พิจารณาประกอบการแต่งตั้ง เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายจะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสแล้ว (กต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญของสถาบันศาลยุติธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและพิจารณาวินัยข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม
ขณะที่ เเหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ ว่า หากในวันที่ 23 ส.ค.64 (ก.ต.) มีมติ ว่า ไม่ให้นายปรเมษฐ์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส จะมีผลทำให้พ้นจากตำแหน่ง และเป็นการลงโทษทางวินัยล่วงหน้า นายปรเมษฐ์ฯ น่าจะต่อสู้ว่า เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย น่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ยังสอบสวน ไม่แล้วเสร็จ เป็นแนวบรรทัดฐานและมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมและสถาบันศาลยุติธรรมในอนาคต เกิดความเสียหายยากที่จะเยียวยาได้ ในภายหลัง การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เช่นนี้มีผลทำให้ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิทางศาลฟ้องร้อง ทั้ง ทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมในฐานะประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกัน
ทางด้าน นายปรเมษฐ์ฯ กล่าวว่า ตนหวังจะได้รับความเป็นธรรม ในการพิจารณาจาก (ก.ต.) ในครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวบรรทัดฐาน และมาตรฐาน ของผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม ในอนาคตต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน