วันที่ 20 ส.ค.64 : นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เปิดเผยว่า ตนเองได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอคัดค้าน การแต่งตั้งนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ในวาระ 1 ตุลาคม 2564
กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำผิดวินัยกรณีหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ
ในฐานะที่ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควรที่จะ ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ก่อนนำความกราบบังคมทูล เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมาย
โดยขอให้นำรายงานการประชุม (ก.ต.) ครั้งที่ 22/2564 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีการอภิปรายและลงมติเสียงข้างมาก 8:6 ไม่ให้ส่งเรื่องของนายอนุรักษ์ฯ ไปให้อนุ (ก.ต.) ตรวจสอบก่อนจากนั้นมีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตในศาลอุทธรณ์ ว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังได้และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการลงมติว่ามติเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่คัดค้านนั้นเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายชำนาญฯ ยังให้ความเห็นเรื่อง การพิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณี บุคคลอื่น (ก.ต.) ก็จะส่งเรื่องไปให้อนุ (ก.ต.) ทำการตรวจสอบ แต่พอถึงเรื่องของตนเองเหตุใดจึงไม่ให้มีการตรวจสอบ เพราะการดำรงตำแหน่งเป็น (ก.ต.) ยิ่งต้องพร้อม ให้มีการตรวจสอบตลอดเวลาเพื่อความสง่างาม ฉะนั้นการเป็น (ก.ต.) ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องถูกตรวจสอบ
ซึ่งในส่วนของ (ก.ต.) เสียงข้างมาก ที่ลงมติ แต่งตั้งนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล ให้ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตในศาลอุทธรณ์ จะขอดูรายงานการประชุมก่อนว่า แต่ละท่านให้ความเห็น อย่างไร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ละเว้นการทำหน้าที่ หรือ เลือกปฏิบัติหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะยื่นร้องต่อ (ปปช.) ให้ตรวจสอบการกระทำของ (ก.ต.) เสียงข้างมาก หรืออาจพิจารณาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดี
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน