วันที่ 17 สิงหาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยประชาคมวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “ขยะทะเล…สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ร่วมกับกลุ่มชุมชน จ.ระยอง ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก และ หมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วให้กับชุมชน หวังสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “(วช.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือ โครงการ “ขยะทะเล…สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการนำผลงานการวิจัยและนวัตกรรมของ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหาและการจัดการขยะอย่างครบวงจร รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก และสร้างรายได้แก่ชุมชน เกิดการสร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ จนนำไปสู่การผลักดันนโยบาย และสร้างความตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะในวงกว้าง รวมทั้ง สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”
ด้าน นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะที่ ดาว เป็นหนึ่งในบริษัทด้าน Materials Science รายใหญ่ที่สุดของโลก เราตระหนักถึงปัญหาพลาสติกใช้แล้วที่หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม และพยายามหาวิธีการต่างๆ เข้ามาจัดการอย่างยั่งยืน ดาว ได้ตั้งเป้าที่จะช่วย “หยุดขยะพลาสติก” โดยมุ่งมั่นจะผลักดันให้พลาสติกที่ใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลก ให้ถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ หรือ รีไซเคิล ซึ่งโครงการ “ขยะทะเล…สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” เป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะนำผลงานด้านการศึกษาและงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง เราพร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองในการประสานงานระหว่างประชาคมวิจัย และกลุ่มชุมชน เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ โดยการผสมพลาสติกมาใช้ในวัสดุก่อสร้าง เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์ มีน้ำหนักเบา ช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น และลดการใช้วัสดุที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ทราย และหิน หากนำก้อนอิฐไปทำเป็นวัสดุปูพื้นนอกอาคาร ก็จะช่วยลดความร้อนของพื้นผิว สามารถเดินหรือ ทำกิจกรรมในเวลากลางแจ้งได้”
นอกจากนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหน่วยงานซึ่งได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นผู้บริหารแผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” ที่มีเป้าประสงค์ในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และดำเนินการการวิจัยในหลายส่วน อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการรวบรวมจัดเก็บขยะพลาสติกตกค้างทั้งทางบกทางทะเล การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตกค้างของขยะพลาสติก รวมทั้งนวัตกรรมการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยมีเครือข่ายนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ร่วมดำเนินการ”
อย่างไรก็ตาม ผศ. ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะหน่วยงานวิจัยหนึ่งภายใต้ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” ได้วิจัยและออกแบบนวัตกรรมในการนำขยะพลาสติกจากทะเลมาเป็นวัตถุดิบในวัสดุก่อสร้างโดยชุมชนสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้เอง อาทิ กระเบื้องพื้นสนาม กระถางต้นไม้ นอกจากจะเป็นการกำจัดขยะพลาสติกยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาว เรามีความภูมิใจที่งานวิจัยที่ประชาคมวิจัยได้ร่วมกันทุ่มเท ได้รับการยอมรับและนำการใช้งานอย่างกว้างขวางผ่านการสนับสนุนจากภาคเอกชน และความพร้อมของกลุ่มชุมชน”
ด้านกลุ่มชุมชน นายสำราญ ทิพย์บรรพต ประธานวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก และ นายสายัณห์ รุ่งเรือง ประธานชุมชน หมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) ได้กล่าวขอบคุณประชาคมวิจัย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานการศึกษา และหน่วยงานเอกชน ที่ส่งมอบผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ และส่งเสริมศักยภาพให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยฯ ที่เป็นตัวกลางในการประสานให้ทางกลุ่มได้เข้าถึงนวัตกรรมการจัดการปัญหาขยะพลาสติก และร่วมให้การสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ คำแนะนำ และเครื่องมือ เครื่องจักร ทำให้ชุมชนสามารถยกระดับความรู้ความสามารถในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามหลักวิชาการ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้ อันเกิดจากการนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์
โดยผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่ได้จากโครงนี้ มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อม ใช้สำหรับการก่อสร้างภายนอกอาคาร เช่น บล็อคปูพื้น คอนกรีตบล็อก และขอบคันหิน โดยจะใส่พลาสติกทดแทนหินและทรายในสัดส่วน 0.4–1.5 กิโลกรัม ต่อชิ้น ทำให้ราคาถูกกว่าวัสดุก่อสร้างทั่วไป มีความคงทนเทียบเท่าของเดิม คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 400,000-1,500,000 บาท ต่อปี และลดปริมาณขยะพลาสติกได้กว่า 30,000 กิโลกรัมต่อปี นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือของชุมชน สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างผสมพลาสติกใช้แล้วดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ทั้งนี้ (วช.) และประชาคมวิจัย ทั้งภาคการศึกษา ภาคเอกชน และกลุ่มชุมชน จะร่วมกันนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้แก้ปัญหาและการจัดการขยะอย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน