คณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง อว. พร้อมด้วย ดร.พัชรินทร์รุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. คุณสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และทีมโฆษกกระทรวง อว. ร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับ รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ เกี่ยวกับประเด็นด้านการบริหารการจัดการเรียนการสอน และมาตรการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาและผู้ปกครองในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ ห้องรับรองชั้น 4 อาคาร Sport Complex มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานมหาวิทยาลัยฯ ในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
ในการนี้ รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้ให้สัมภาษณ์ คุณณัฎฐา ชาญเลขา คณะทำงานโฆษกกระทรวง อว. ผู้แทนกระทรวง อว. ภายหลังการประชุมเกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการ และมาตรการให้ความช่วยเหลือให้แก่นักศึกษาในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าวถึงนโยบายการบริหารในสถานการณ์โควิดกับการเรียนการสอนว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนการสอนระบบออนไลน์มาสิบกว่าปีก่อนสถานการณ์โควิด นักศึกษาอยู่ที่ไหนเวลาไหนก็สามารถหาความรู้ได้ ซึ่งในการสอนได้มีการบันทึกเทปเอาไว้แล้วส่งไปให้กับผู้เรียนสำหรับทบทวนภายหลังการเรียนจากในชั้นเรียน มหาวิทยาลัยมีทั้งคณะนิเทศศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ที่สามารถผลิตรายการต่าง ๆ ได้ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นความโชคดีที่มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญ
“ในสถานการณ์โควิด นักศึกษาทุกระดับทุกชั้นปีไม่สามารถมาเรียนได้ แต่การเรียนทิ้งไม่ได้ เพราะนักศึกษาต้องเรียนในแต่ละปี ท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. ได้มองเห็นว่า ต้องให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดการเรียนระบบออนไลน์ ซึ่งท่านได้ให้ทั้งกำลังใจ สนับสนุน และนโยบายต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัยจัดสอนออนไลน์ ซึ่งมหางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจัดการสอนออนไลน์อยู่แล้ว และทันสมัย นักศึกษาทุกคนก็เรียนอย่างมีความสุข และอาจารย์ทุกคนก็มีความรู้ในด้านการสอนออนไลน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าวอีกว่า การเรียนการสอนในยุคโควิดก็ต้องจัดการสอนออนไลน์ ซึ่งสมัยก่อนมหาวิทยาลัยมีทั้งออนไลน์ออนไซต์ผสมกัน ซึ่งการสอนออนไลน์ก็มีข้อดี การที่นักศึกษามาเรียนในชั้นเรียนในระบบออนไซต์ก็มีข้อดี จึงเอาจุดเด่นของแต่ละระบบมาประยุกต์ใช้ ทำให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพมีองค์ความรู้ครบถ้วน เรียนออนไลน์ได้ทั่งในวิชาที่เป็นกิจกรรม หรือการปฏิบัติต่าง ๆ
“เราต้องประยุกต์ให้นักศึกษามีองค์ความรู้ในการเรียนมีทั้งภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติ จึงต้องประยุกต์ หรือกลั่นกรององค์ความรู้ต่าง ๆ แล้วให้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิดให้ได้ ไม่ว่าจะเรียนภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ นักศึกษาก็ต้องมีองค์ความรู้ ซึ่งต้องชื่นชมคณาจารย์ คุณครู นักวิชาการต่าง ๆ ในช่วงโควิดก็ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้นักศึกษาของเรามีองค์ความรู้ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยปรับตัวได้เร็ว เพราะนักศึกษาเรียนออนไลน์อยู่แล้ว” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวเสริม
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาว่า หลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการให้ช่วยเหลือนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้นักศึกษาในช่วงโควิด ในเรื่องนี้มหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งในช่วงโควิดมหาวิทยาลัยฯ จะช่วยอะไรนักศึกษาของเรา หรือแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นทั่วโลก สิ่งเดียวที่เราจะผ่านพ้นวิกฤติไปได้ก็คือ การร่วมด้วยช่วยกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ร่วมแรงร่วมใจกันเราก็จะผ่านวิกฤติ
“ตั้งแต่เดือนมีนาคม มหาวิทยาลัยฯ ก็มีนโยบายว่า เปิดหอพักให้ลูกศิษย์อยู่ฟรี จากที่เคยชำระค่าหอพักผู้ปกครองก็จะสบายใจแล้วว่ามหาวิทยาลัยเปิดหอพักให้อยู่ฟรี น้ำไฟฟรี นักศึกษาบางคนผู้ปกครองยังพอส่งลูกได้ไม่กระทบมากนัก มหาวิยาลัยก็ช่วยให้กำลังใจ โดยการลดค่าเช่าหอพักให้ 50 % จากเคยเสีย 3,000 บาท อยู่กันได้ 3 คน ก็เสียแค่ 1,500 บาท ลดให้ครึ่งหนึ่ง ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ มหาวิทยาลัยฯ จัดให้ฟรีไม่ต้องเป็นภาระผู้ปกครอง ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้ประกาศตั้งแต่เดือนมีนาคม นักศึกษา ผู้ปกครองโทรศัพท์มาขอบคุณ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าวต่อว่า อีกช่วงหนึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้ปกครอง ภาครัฐโดยกระทรวง อว. ประกาศว่า ภาครัฐบาลช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท ทุกคนทั้งนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกทุกมหาวิทยาลัย
“มหาวิทยาลัยฯ มีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ทำอย่างไรในยุคที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เมื่อรัฐบาลช่วย 5,000 บาททุกคน มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีเสริมให้อีก 2,000 บาททุกคนเช่นกันทั้งปริญญาตรี โท เอก ซึ่งได้ประการเป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ ส่วนของหอพักยังเปิดให้ใช้ฟรี น้ำไฟฟรี ในส่วนที่นักศึกษาต้องการความสะดวกสบายต่าง ๆ ก็ลดค่าหอพัก 50 % หนังสือ ตำราเรียนต่าง ๆ อุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการเรียนการสอนต่าง ๆ แจกฟรี ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราได้ช่วยลูกศิษย์ของเรา ช่วยผู้ปกครองของเรา” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าวอีกว่า การช่วยชุมชน มหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลร่วมสอนคณะแพทยศาสตร์ได้ร่วมกันจัดอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือต่างๆ ไปบริจาคปัจจัยต่าง ๆ ให้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสนามที่วัดศรีสุดาราม
“ชุมชนต่าง ๆ ที่เดือดร้อนมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีโอกาสช่วยเราก็ช่วยชุมชนรอบ ๆ มหาวิทยาลัย สิ่งนี้สอนให้คณาจารย์ ลูกศิษย์ของเรารู้จักเสียสละ รู้จักการให้ และรู้จักการแบ่งปัน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว
“สิ่งคำคัญนอกจากตัวเงินแล้วเป็นพลังของลูกศิษย์ พลังของผู้ปกครองทุกคนที่ได้รับกำลังใจ และพลังใจที่ลูกศิษย์ของเราได้ผู้ปกครองได้ว่ารัฐให้ความสำคัญ รัฐบาลเข้าใจ และยื่นมือเข้ามาช่วย สิ่งนี้สำคัญรัฐช่วย สถาบันการศึกษาก็ช่วย ซึ่งจะเป็นกำลังที่ลูกศิษย์นอกจากจะได้เป็นตัวเงินแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดยังได้พลังกำลังใจด้วย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว
รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล กล่าวในตอนท้ายเกี่ยวกับข้อเสนอแนะต่อกระทรวง อว. ว่า ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในการศึกษามานานไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงมัธยมปลาย ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา ในยุดนี้ต้องขอชื่นชมกระทรวง อว. และได้ติดตามข่าวจากทีมโฆษกออกมาให้ความรู้ ชี้แจง แจ้งข่าวสารต่าง ๆ ให้กับผู้ที่เป็นนักการศึกษาได้รับรู้ได้ทราบว่ากระทรวงทำอะไร อย่างไร
“สิ่งที่อยากจะชมก็คือ อว.พารอด ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชน ผู้ปกครองชื่นชมมาก ๆ เพราะว่า ทำกันจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่ท่านรัฐมนตรี ท่านผู้บริหาร ท่านเลขารัฐมนตรี ทีมโฆษก ที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และคณะทำงานทุก ๆ คน ข้าราชการต่าง ๆ ในกระทรวงร่วมด้วยช่วยกันจัดยา แจกยา แพ็คของแจก โทรศัพท์สอบถาม จิตอาสา เข้าใจว่าเหนื่อย แต่ก็เป็นความภูมิใจ และซุปตาร์ช่วยขาย จากที่ติดตามมีร้านค้าไลน์มาขอบคุณ และเขาก็บอกว่าจากที่ขายได้วันละร้อยพอกระทรวง อว.มาช่วยก็ได้หลักหลาย ๆ พัน หลักหลาย ๆ หมื่น ชุบชีวิตเขาได้เลย ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ้างคนงานต่าง ๆ นี่ก็คือเป็นงานของ อว. และอีกหลาย ๆ กิจกรรมที่พยายามเข้ามาช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนว่าจะให้เด็ก ๆ นักศึกษาทำกิจกรรมอะไรที่เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ กิจกรรมรักษ์โลก กิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมสร้างรายได้ กิจกรรมที่เขาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงเรียนออนไลน์ จากเรียนออนไลน์เสร็จแล้วก็อยู่บ้าน ซึ่งก็ต้องชมว่าทีมของผู้บริหารกระทรวงมีกลวิธีที่จะทำอย่างไรให้นักศึกษาของเราใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ให้เกิดประโยชน์ให้เกิดรายได้ก็ต้องขอขอบคุณผู้บริหารของกระทรวง อว.ทุก ๆ ท่านที่ทุ่มเท เสียสละแรงกายแรงใจ แรงสติปัญญา แรงทุนทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อประชาชน เพื่อเยาวชนอย่างแท้จริง”