พนักงานไอเฟค ร้อง “รมว.แรงงาน” คืนสิทธิ์ประกันตน-จี้เชือดนายจ้างแจ้งเท็จประกันสังคม กังขา “กรมบังคับคดี” เหตุประวิงเวลา-เพิกเฉยคำสั่งทางปกครอง
วันที่ 10 ส.ค.64 เวลา 10.00 น. : ตัวแทนกลุ่มพนักงานบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านนายกฤตพัฒน์ ครุฑกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจ และประเมินผล กระทรวงแรงงาน กรณีพนักงาน “ไอเฟค” ได้รับความเสียหายจากการถูกกลั่นแกล้ง โดยการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของกรรมการบริษัท ไอเฟคฯ โดยเจตนาไม่จ่ายค่าจ้างให้พนักงานของบริษัทไอเฟคฯ และบริษัทย่อย นับตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2562
อีกทั้งได้ละเมิดสัญญาจ้างโดยการยกเลิกสวัสดิการประกันชีวิต ประกันสุขภาพของพนักงาน เจตนาไม่นำส่งเงินทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยังได้จดแจ้งข้อมูลอันมิชอบต่อสำนักงานประกันสังคม ให้พนักงานของบริษัทฯ ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน ทั้งๆ ที่พนักงานทุกคนยังคงปฏิบัติหน้าที่ให้กับบริษัทฯ อยู่ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของพนักงาน เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว
พร้อมกันนี้ ยังได้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลอุทธรณ์ชำนาญพิเศษคดีแรงงาน ที่มีคำพิพากษาให้นายจ้าง (ไอเฟค) จ่ายเงินตามคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ให้แก่ลูกจ้างภายใน 30 วัน นับแต่ได้ทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มี.ค.64
ต่อมา นายจ้างได้เป็นโจทย์ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ให้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด การที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 124 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือของตัวแทนพนักงานไอเฟคฯ ต่อ รมว.แรงงาน ในครั้งนี้ เพื่อขอความเป็นธรรม และเร่งรัดคืนสิทธิ์การเป็นผู้ประกันตนให้แก่พนักงานของบริษัทฯ เนื่องจากคดีได้ถึงที่สุดแล้ว และขอให้เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้จดแจ้งเท็จต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อขจัดภัยสังคมในครั้งนี้
ขณะที่ เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ วันที่ 10 ส.ค.64 เวลา 09.00 น. ตัวแทนพนักงานไอเฟคฯ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี ขอให้กวดขันเจ้าหน้าที่ และเร่งเยียวยาพนักงานไอเฟคฯ ที่ถูกริดลอนสิทธิ์โดยนายจ้างของตน ทั้งนี้ หลังจากศาลอุทธรณ์ชำนาญพิเศษคดีแรงงาน มีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินตามคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานแล้วนั้น ปรากฎว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แทนที่จะรีบปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองเพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลับให้คำตอบกับพนักงานในทำนองที่อาจจะไปขยายฎีกาคัดค้านคำสั่งทางปกครองเสียเอง และไม่สนใจพนักงานที่ถูกรังแก
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องแปลก เพราะคำสั่งอุทธรณ์ที่ออกมานั้น ศาลสั่งชัดแจ้งแล้วว่าไม่รับอุทธรณ์ เพราะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โดยคดีนี้นายจ้างกล่าวหาว่าไม่ใช่ลูกจ้างจึงไม่จ่ายเงิน ทั้งๆ ที่พนักงานทุกคนทำงานมาก่อนกรรมการชุดดังกล่าวจะเข้ามาบริหารเสียอีก ประกอบกับล่าสุด คำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานที่ให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนของเดือนธันวาคม 2563 ศาลไม่รับฟ้อง คดีเป็นที่สุด นิติกรชำนาญการสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.มักกะสัน แล้ว เพื่อให้นายจ้างดำเนินการจ่ายเงินและค่าปรับ จึงเป็นการยืนยันสิทธิ์ ของพนักงานอีกทอดหนึ่ง
โดยในวันนี้ตัวแทนพนักงานฯ จึงได้ขอให้อธิบดีกรมบังคับคดี เร่งรัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง และคำสั่งศาลโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังไม่ได้รับการเยียวยาในช่วงโรคระบาดนี้ ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฯ นอกจากทำให้เกิดความเสียหายและละเมิดสิทธิ์พนักงานแล้ว ยังสร้างภาระความเสียหายให้กับเจ้าหนี้ด้วย เนื่องจากบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ฯ (ไอเฟค) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน