เขียนดีจนต้องแชร์.. เมื่อคุณครูถกประเด็น “ทศกัณฐ์” กับเด็กนักเรียนชั้น ม.3 แลกหมัดมุมมองทั้งเด็ก ทั้งครู พร้อมดึงสติการตัดสินถูกผิดเรื่อง ทศกัณฐ์ ใน MV เที่ยวไทยมีเฮ
กลายเป็นข่าวครึกโครมระดับชาติและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับประเด็นความเหมาะสมของการนำ “ทศกัณฐ์” ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผิดแปลกไปจากที่เคยเป็นมา ทั้งการหยอดขนมครก ถ่ายเซลฟี่ ขับโกคาร์ท ขี่ม้า ฯลฯ จนนำมาซึ่งการปรับเนื้อหาและตัดฉากที่ถูกมองว่า “ไม่เหมาะสม” ออกเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ดี มีผู้คนมากมายที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับคุณครูสอนวิชาสังคมท่านหนึ่งที่ได้หยิบยกดราม่า “ทศกัณฐ์” ใน MV เที่ยวไทยมีเฮ มาถกกับเด็กนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และแสดงความคิดเห็น ก่อนจะนำบทเรียนที่ได้มาบอกต่อกันในเฟซบุ๊ก Sanya Makarin เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 ซึ่งข้อเขียนของคุณครูท่านนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาครับ แต่รู้สึกอย่างเขียนบันทึกของตนเองและศิษย์นี้เอาไว้ ตอนเช้าวันนี้ (อาทิตย์ ๒๕ ก.ย.) เพื่อเป็นบทเรียนกับตนเอง และน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อผู้อ่านครับ เรื่องมีอยู่ว่าผมมีโอกาสได้ นำคลิป MV เที่ยวไทยมีเฮ มาเปิดให้เด็ก ๆ ม.๓ ได้ดูในชั่วโมงที่ผมดูแล แน่นอนวิชาที่ผมดูแลนั้นเป็นวิชาสังคม คับ แต่สิ่งที่ผมชวนเด็ก ๆ เรียนรู้ก็มักกะเชื่อมโยงกับศาสตร์ โน้นนี้นั้น ตามประสาครูแบบผมอยู่เสมอ ที่ชอบหยิบและโยงให้เด็ก ๆ ได้เห็นตามประสบการณ์ ความรู้ ของตนเองบวกกับของครูที่มี
ก่อนที่ผมจะเปิด MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เด็กดู ผมถามว่า มีใครเคยดู คลิปนี้บ้าง ? มีนักเรียนอยู่ ประมาณสี่คน ยกมือบอกว่าดูแล้ว ผมถามต่ออีกว่า แล้วมีใครได้ติดตามข่าวบ้าง ว่า MV เพลงดังกล่าวกำลังเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ จำนวนของนักเรียนที่ยกมือเริ่มมากขึ้นกว่าครั้งแรก
ผมเลยถือโอกาสนี้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก ๆ เมื่อเปิด MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เด็ก ๆ ดู สีหน้า แววตา และเสียงหัวเราะของพวกเค้าดูท่าทางจะพอใจ และชอบ MV นี้ไม่ต่างไปจากครู (สอยอ) ผมถามว่าดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ? หลายเสียงบอกชอบ สนุก และไม่เห็นว่ามันจะเสียหายตรงไหน ในขณะที่กลุ่มไม่ออกเสียง มีสีหน้า ยังไม่แน่ใจ เลยเงียบ ๆ ไปก่อน (ตามเคย)
หลังจากนั้นผมก็เริ่มเอาคลิปและบทความของผู้ที่เห็นด้วย และเห็นต่าง ว่า MV ดังกล่าวเหมาะสมและไม่เหมาะสมในแง่ของการนำเอาโขน วัฒนธรรมและนาฏยศิลป์ชั้นสูง มานำเสนอในแบบ MV เที่ยวไทยมีเฮ ที่เด็ก ๆ ได้ดูผ่านมาเมื่อกี้ ผมชวนคุยอีกครั้งว่าดูและอ่านแล้ว มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ?
ดูเหมือนเสียงเริ่มจะแตกเป็นสองฝ่าย มีนักเรียนคนหนึ่งยกมือแลกเปลี่ยนว่า…
“เอาจริง ๆ นะครู ผมไม่เห็นว่ามันจะน่าเกลียดและเสียหายตรงไหน ดูสนุกและเข้าใจง่ายดีด้วยซ้ำ โขน ก็คือคนหรือเปล่าครับ ทำโขน ให้คนดู ก็ต้องมีความเป็นคนบ้าง”
นักเรียนอีกคนพูดว่า “ผมเริ่มเห็นปัญหาแล้วครับ ว่ามันอยู่ตรงไหน ผมว่าลูกสมุนชุดเขียวสองตัว ของทศกัณฐ์นั่นแหละ แสดงท่าทางกวนตีนและเกรียนเยอะไปหน่อย เลยเป็นตัวการให้ถูกด่ากัน”
“ใส่หัวโขนแต่มาเป่าแคน เด้าแรง ๆ ขี่ม้า วิ่งเล่นตามชายหาด มันอาจจะดูไม่สุภาพ ในแบบที่เขาจะอยากเห็นมั้งครับครู”
“หนูว่าดีนะคะ อย่างน้อยโขนที่เราไม่ค่อยรู้จัก เราก็ได้คุ้นเคยมากขึ้น แถมโขนมาเที่ยวขอนแก่นบ้านเราด้วย เหมือนโขนใกล้ชิดกับพวกเรามากขึ้น (มีเสียงหัวเราะต่อท้าย)”
…การพูดคุยแลกเปลี่ยน ยังคงไหลลื่นไปเรื่อย ๆ แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคงชอบ มากกว่าไม่ชอบ เห็นด้วยว่า ไม่ควรแบน มากกว่าจะแบน MV ดังกล่าว เสียงในหัว ผมดังขึ้นว่า “เมิงจะจบบทเรียน แค่ตรงนี้จริง ๆ เหรอ สอยอ…ไม่น่าใช่นะ….”
ผมเลยชวนเด็ก ๆ จินตนาการต่ออีกว่า ถ้าหัวโขนใน MV ที่ใส่ ไม่ใช่หัวยักษ์ทศกัณฐ์ล่ะ แต่เป็นศีรษะของพระพุทธรูป พระพุทธเจ้า หรือศีรษะของพระเยซู ที่เราเคารพนับถือ เราจะมอง หรือรู้สึกอย่างไร ?
…เด็กๆ นิ่ง เงียบไปชั่วครู่ ผมเดาเอาเองว่าความนิ่งนั้น คือกระบวนการของการทำงานด้านในของเด็ก ๆ รวมทั้งครูเองด้วย คนที่เค้าทักทวง หรือคัดค้าน เค้าอาจจะมองว่าโขน คงเป็นสิ่งที่เขารัก ศรัทธา ควรบูชา และเคารพ ไม่ต่างอะไรจากพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้กันอยู่นั้นเอง เราผู้มีความรู้และเข้าใจนาฎยศิลป์ที่เรียกว่าโขนน้อยมาก ก็ไม่ควรด่วนตัดสินอะไร ถูกหรือผิดจากความรู้สึก หรือเสียงส่วนใหญ่ว่าผิดหรือถูก เพราะ ถูก ผิด มันอยู่ที่เราเอาอะไรวัดหรือเป็นเกณฑ์
พูดมาถึงตอนนี้ ครูกำลังชวนเด็ก ๆ เรียนรู้และบอกว่า เรามีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบ เชื่อหรือไม่เชื่อ แบบไหนก็ได้ แต่ถ้ามองในหลาย ๆ มุมเราก็จะเคารพในความเห็นต่าง และเท่าทันกระบวนการทำงานของสื่อมากยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ในวันพฤหัส (๒๒ ก.ย. ๕๙ ) ในชั้นเรียน ของผม กับเด็ก ๆ ม.๓ จบไปแล้วครับ แต่ประเด็น การพูดคุยเรื่อง MV เที่ยวไทยมีเฮ ยังไม่จบ (แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะจบ ตามกาลเวลา) ในโลกสังคมออนไลน์ และสื่อ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ ยังคงทำงานอยู่ อาจารย์ของผมท่านหนึ่งก็เช่นกัน ท่านเขียนประเด็นนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวได้น่าสนใจครับ
ในพื้นที่ตรงนี้อาจารย์ได้ใช้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้กับลูกศิษย์และคนที่มาอ่านด้วย ผมจับประเด็นได้ว่า ในฐานะครูผู้สร้างการเรียนรู้ ควรจะศึกษาความรู้ ความเข้าใจ เรื่องศิลปะ และวัฒนธรรมให้มาก และให้ความรู้เรื่องนี้กับนักเรียนด้วย เพราะเมื่อเรามีความรู้น้อย เราก็จะมักตัดสินอะไรจากความรู้สึก ซึ่งทำให้สังคมเราเป็นสังคมบนฐานของความรู้สึก มากกว่าสังคมของเหตุและผล บนฐานของความเป็นจริง เพราะสื่อทุกวันนี้เองก็มักจะนำเสนอประเด็นความขัดแย้ง หรือประเด็นที่ขายได้ มากกว่าจะให้ความรู้กับผู้เสพ ยิ่งได้ดู คลิปของอาจารย์พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ในเวที TEDx Bangkok ถอดความเทพพนม ที่แกพูดถึงความเชื่อ วัฒนธรรม และความจริง ได้น่าสนใจมากครับ ก็ทำให้เราเข้าใจถึงวัฒนธรรมและศิลปะได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้ต่อกับเพื่อนครูคนหนึ่งในโรงเรียน เราได้ข้อสรุปจากเรื่องนี้ว่า เราในฐานะครู ซึ่งเป็นผู้นำพานักเรียน ยิ่งถ้านักเรียนศรัทธาครูคนไหน เขาก็จะเชื่อและเห็นตามครู ถ้าครูเป็นคนมองลบ เด็กจะเชื่อแบบลบ ๆ ถ้าครูมองบวกเด็กจะเชื่อแบบบวก ๆ เราในบทบาทครู เป็นผู้ชี้ว่าสิ่งนั้น ใช่ ไม่ใช่ ชอบ ชั่ว ดี ได้จริง ๆ นะ และถ้าครูเอาทัศนคติส่วนตัวเข้าไปเยอะ ๆ ล่ะ คงเป็นอะไรที่น่ากลัวนะ ผมว่า
เขียนซะยาวมาถึงตรงนี้ ผมว่าครูหรือผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ควรจะชี้ ชวน เชื่อ แบบไหนดี หรือจะไม่ชวนเชื่อ ไม่ชี้นำ แต่มาเป็นผู้ชวนตั้งคำถาม ชวนหาทางเลือก ชวนมองหลาย ๆ มุม ชวนค้นหาคำตอบต่อ (เพราะหลายเรื่องครูไม่ได้รู้จริง และไม่ใช่เทพเจ้าที่จะให้แสงสว่างได้) เพื่อให้อำนาจในการกล้า ตัดสินใจอย่างมั่นคง และสง่างาม ที่จะเลือกเชื่อ ไม่เชื่อ ชอบ ไม่ชอบ ที่มาจากตัวของนักเรียนหรือเด็ก ๆ เอง ที่ผ่านการใคร่ครวญอย่างคนมีปัญญา