นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เข้าร่วม “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – จีน – ญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ (๑๐+๓)” หรือ “中日韩(10+3)外长会”
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ ๓ ส.ค.๖๔ ผ่านระบบทางไกล ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายหวัง อี้ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังมีความตึงเครียดอยู่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆมีความแตกต่างกัน ต้องเผชิญกับการท้าทายใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรทำงานร่วมกันต่อไป ดำเนินความร่วมมืออย่างจริงจัง ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และปรับปรุงขีดความสามารถในการตอบสนองต่อวิกฤตของประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ควรมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ควรปรับกลไกให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังชีวิตให้กับกลไกความร่วมมือ ๑๐+๓ ร่วมกันรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้สืบเนื่องต่อไป
๒. นายหวัง อี้ กล่าวว่า ประเทศ ๑๐+๓ เป็นแกนหลักของความร่วมมือในเอเชียตะวันออก ในปีหน้าก็จะครบรอบ ๒๕ ปี การเปิดตัวความร่วมมือ ๑๐+๓ เพื่อเป็นโอกาสในการกำหนด “แผนงานความร่วมมือ ๑๐+๓ (พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐)” หรือ “10+3合作工作计划 (2023-2027)” ในการวางแผนแนวทางสำหรับความร่วมมือในอนาคต และตอบสนองเป้าหมายของ “ประชาคมเอเชียตะวันออก” (“东亚共同体”) กล่าวคือ
๒.๑ ประการแรก การร่วมกันป้องกันโรคระบาดในเอเชียตะวันออก
๒.๒ ประการที่สอง การร่วมกันส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก โดยจำเป็นต้องพยายามดำเนินการความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ก่อนกำหนดและเร่งกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
๒.๓ ประการที่สาม การร่วมกันแสวงหาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาของเอเชียตะวันออก โดยจำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในระดับภูมิภาคและใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบในระดับตลาดของประเทศในเอเชียตะวันออก รวมทั้งดำเนินการร่วมมืออย่างจริงจังในด้านปัญญาประดิษฐ์และเศรษฐกิจดิจิทัล
๒.๔ ประการที่สี่ การร่วมกันสร้างรากฐานคุณค่าของเอเชียตะวันออก ซึ่งต้องร่วมกันแสวงหาค่านิยมร่วมกันของสันติภาพ การพัฒนา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพสำหรับมวลมนุษยชาติ
บทสรุป ในการประชุมฯ ดังกล่าวได้ตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ส่งเสริมการสร้างศูนย์สำรองวัสดุทางการแพทย์ฉุกเฉิน ๑๐+๓ และห้องสมุดสำรองของอาเซียน รวมทั้งความร่วมมือด้านสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ตลอดจนบทบาทของกลไกสำรองข้าวฉุกเฉิน โดยเห็นพ้องกันว่าควรยึดหลักพหุภาคีและการค้าเสรี รวมถึงดำเนินการความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.fmprc.gov.cn/web/wjbzhd/t1897253.shtml )
นำเสนอข่าว/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนและโครงการคลองกระ
9/8/2021