-นายกฯสั่ง3หน่วยงานเร่งระบายน้ำหลังฝน‘ถล่ม’หลายวัน
-มท.บี้ผู้ว่าฯตั้งวอร์รูมรับมือ
-แจ้งวัฒนะสาหัสท่วมข้ามคืน
‘-กรุงเก่า’วัดจม-พระพายเรือ
เมื่อวันที่ 25 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ระดมกำลังอย่างเต็มที่ ไม่ได้ปล่อยปะละเลย เบื้องต้นตนสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคสช. เร่งระบายน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต่างอดหลับอดนอนและเสี่ยงอันตราย ซึ่งคนในพื้นที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือรัฐบาล แต่คนนอกพื้นที่กลับติติง ทั้งนี้ จากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผนมากนัก กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้บริหารจัดการน้ำได้ดีพอสมควร และไม่มีใครทำได้ จึงให้เปรียบเทียบกับก่อนหน้าที่ตนเข้ามาได้ทำเช่นนี้หรือไม่
มท.สั่งตั้งวอร์รูมรับมือน้ำท่วม
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ส่งการด่วนที่สุดผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ถึงผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทุกจังหวัด เร่งแก้ปัญหาอุทกภัย รวมทั้งกักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง
โดยเนื้อหาคำสั่งดังกล่าวระบุว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิงในภาคเหนือไหลเข้าสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จ.นครสวรรค์ ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบกับบางพื้นที่มีปริมาณฝนตกมาก เช่น ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง ทำให้เกิดน้ำท่วมจากน้ำฝนท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ที่ราบต่ำ และปริมาณน้ำสูงล้นฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ จึงขอให้แต่ละจังหวัดดำเนินการดังนี้ ให้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัดขึ้น ใช้เป็นศูนย์บัญชาการและบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหาอุทกภัย ให้ผู้ว่าฯและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลงพื้นที่ดูแลประชาชนและตรวจสภาพน้ำท่วมใกล้ชิด ติดตามสภาพน้ำโดยประสานกับกรมชลประทานและกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเปิดปิดประตูเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยา ดูปริมาณน้ำ ปริมาณฝน กับการไหลของน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดน้ำท่วม คำนึงถึงการเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ยังไม่ท่วม เตรียมอุปกรณ์ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยผู้ประสบภัย อาจมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พชจ.) เป็นหน่วยบรรเทาทุกข์หรือเยียวยาผู้ประสบภัย อย่าให้ซ้ำซ้อนหรือเกิดความขัดแย้งกัน
ชี้กทม.จมเพราะระบายน้ำไม่ทัน
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยถึงสถานการณ์ฝนตกว่า ยังมีต่อเนื่องจนถึงวันที่ 26 กันยายน จากนั้นฝนจะเริ่มน้อยลงและมากขึ้นอีกช่วงต้นเดือนตุลาคม ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าแนวโน้มฝนจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูสถานการณ์ปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคมจะมีแนวร่องฝนขยับลงมาจากจีนเข้าไทย รวมทั้งมีสถานการณ์ของพายุตัวใหม่ เข้าไต้หวัน และเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้
ส่วนปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น นายรอยลเผยว่า เพราะกทม.แก้ปัญหาการระบายน้ำจากฝนที่ตกลงมาไม่ได้ จึงเกิดน้ำท่วมทุกจุดเวลาฝนตก อย่างที่เห็นท่วมย่านแจ้งวัฒนะ ไม่มาจากน้ำเหนือ
“ผมขอให้ลองแก้ไขเป็นพื้นที่ๆไป ดูตัวอย่างจ.ปทุมธานี ฟื้นฟุระบบเก่าขึ้นมาใช้ได้ผลลดปัญหาน้ำท่วมไปได้มาก ลงไปแก้ท่อน้ำที่สกปรก ลำรางหายไปก็ทำขุดลอกรื้อฟื้นลำรางมาใช้ใหม่ แทนที่สร้างของใหม่เรื่อยๆ ไปดูของเก่าใช้งานก่อน แต่กทม. แก้แบบเศรษฐี อะไรก็จะสร้างใหม่ตลอด เน้นสร้างอุโมงค์ซึ่งก็ยังไม่เสร็จ”นายรอยลกล่าว
ลุ่มเจ้าพระยาระวังถึงต้นตค.
และว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดพื้นที่ท้ายเขื่อนลุ่มเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมที่มีฝนจากอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้และอันดามัน ซึ่งปัญหาท่วมขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มนอกคันกั้นน้ำจ.พระนครศรีอยุธยา บางแห่งสูงเกือบ 2 เมตร เพราะตอนนี้กรมชลประทานยังตัดยอดน้ำระบายออกยังไม่เหมาะสม ควรแบ่งน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาออกฝั่งซ้าย -ขวา ผ่านประตูน้ำมโนรมย์ ไปจ.สุพรรณบุรี ลงแม่ท่าจีนจะช่วยพื้นที่ท้ายเขื่อนลดผลกระทบได้
“จ.พระนครศรีอยุธยาบางตำบลน้ำท่วมเกือบ 2 เมตร เพราะกรมชลฯแบ่งน้ำยังไม่เหมาะสม ต้องจัดการใหม่ โดยตัดน้ำเข้าด้านซ้าย ขวา คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ประตูมโนรมย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งครบให้เร่งระบายน้ำและเก็บน้ำไว้ด้วย ต้องเพิ่มการผันน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า -อู่ทอง มโนรมย์ได้ระบายไปเก็บไว้ด้วย อย่าใช้ทางตรงอย่างเดียว ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ลงทะเล ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังไม่ล้น ขณะนี้มีปริมาณน้ำกว่า 70% ของความจุเขื่อน “นายรอยล กล่าว
เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำ1.8พันลบ.ม.
ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท คงการระบายน้ำไว้ที่อัตรา 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งทำให้ระดับน้ำเหนือเพิ่มขึ้น15 เซนติเมตร โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาวัดได้ 16.13 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนวัดได้ 14.37 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางทรงตัวต่อเนื่อง นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่12 ชัยนาทเปิดเผยว่า จากการคงอัตราระบายน้ำดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ริมคลองบางโผงเผง อ.ป่าโมกข์ จ.อ่างทอง ต.บางหลวงโดด ต.บางบาล อ.บางบาล และต.บางกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงท้ายแม่น้ำน้อย มีระดับน้ำล้นตลิ่งสูงขึ้นอีก 20-30 เซนติเมตร และมีแนวโน้มขยายพื้นที่น้ำล้นตลิ่งออกไปทั้งสองฝั่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจึงควรเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไป
ป่าสัก-น.น้อยล้นตลิ่งท่วมอ.เสนา
นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มระดับขึ้นไปอยู่ที่ 2.70 เมตร เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10 เซนติเมตร ระดับคันกั้นน้ำชลประทานสายผักไห่-เสนาสูงเฉลี่ย 6.20 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ระดับดินเดิมตลิ่งเฉลี่ย 2.20 ม.(รทก.) น้ำท่วมตลิ่งประมาณ 2.00 ม. รวมประมาณ 4.20 ม. สรุปน้ำยังต่ำกว่าคันกั้นน้ำเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1, 790 ลบ. ม./วินาที ระดับน้ำ C.36 5.03 ม.(รทก.) ปริมาณน้ำระบาย 540 ลบ.ม./วินาที C.37 ระดับน้ำ 4.12 ม. (รทก. ) ปริมาณน้ำระบาย 153 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำในแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านที่มีพื้นที่ต่ำเหมือนทุกๆปี ระดับน้ำสูงเฉลี่ย1.50-2.20 เมตร อ.เสนารวม 4 ตำบล 37 หมู่บ้าน 1,335 หลังคาเรือน 1.ต.บ้านกระทุ่ม หมู่ 1-10 รวม 10 หมู่ จำนวน 317 หลังคาเรือน 2.ต.หัวเวียง หมู่ 1-13 รวม 13 หมู่ จำนวน 578 หลังคาเรือน 3.ต.รางจระเข้ หมู 3,5-7 รวม 4 หมู่ 226 หลังคาเรือน 4.ต.บ้านโพธิ์ หมู่ 1,3-9,11-12 รวม 10 หมู่ 214 หลังคาเรือน น้ำล้นตลิ่งวันที่19– 25ก. ย. 59 รวม 6 ตำบล 46 หมู่บ้าน 1,572 หลังคาเรือน ต.บ้านกระทุ่มน้ำสูงเฉลี่ย 1.80 -2.20 ซม. อำเภอผักไห่ รวม 1 ตำบล 8 หมู่บ้าน 180 หลังคาเรือน 5.ต.ท่าดินแดง หมู่ 1-8 รวม 8 หมู่ 180 หลังคาเรือน 6.ต.บ้านใหญ่ หมู่ 3 รวม 1 หมู่ 57 หลังคาเรือน
นายโบว์แดงกล่าวอีกว่า กลุ่มเมฆฝนที่ปกคลุมภาคเหนือและภาคกลางเบาบางลง ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน รวมทั้งสะแกกรัง เริ่มลดลง การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะทรงไว้และคงจะลดระดับลงเรื่อยๆ หากไม่มีฝนตกมาเติมช่วง 2-3 วันนี้ แต่ลุ่มน้ำป่าสักมีฝนตกแถบเพชรบูรณ์ช่วง 1-2 วันที่แล้ว อาจมีน้ำลงมาเติมบ้าง โดยกรมชลประทานจะผันออกไปทางคลองระพีพัฒน์จะได้ไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
บางบาล-ผักไห่วัดจม-พระพายเรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในจ.พระนครศรีอยุธยายังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะที่วัดบุญกันนาวาส ต.ไทรน้อย อ.บางบาลถูกน้ำจากเจ้าพระยาท่วมสูงเกือบ 1 เมตร พระพุทธรูปและเจดีย์ประจำวัดที่ลานปูนหน้าวัดจมน้ำ ขณะที่วัดตะกู ตั้งติดคลองบางหลวง ต.วัดตะกู อ.บางบาลรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา พบน้ำท่วมพื้นที่วัดและชุมชนโดยรอบทั้งหมด ถนนเข้าออกวัดถูกตัดขาด พระสงฆ์และชาวบ้านต้องพายเรือแทน ขณะที่พื้นที่ทุ่งนาหลังถนนคันคลองชลประทาน ทุ่งนาของอ.บางบาลและอ.เสนานับแสนไร่ ซึ่งเก็บเกี่ยวข้านาปรังไปหมดแล้ว ไม่มีน้ำใช้ทำนา โดยชาวบ้านร้องขอให้เปิดประตูน้ำ ดึงน้ำท่วมเข้าทุ่งนาเพื่อเป็นแก้มลิง และจะลดระดับน้ำท่วมในชุมชนริมแม่น้ำให้ลดต่ำลงกว่านี้
เมืองลพบุรีสูง1ม.ชาวบ้านอพยพ
เช่นเดียวกับ สถานการณ์น้ำท่วมใน 2 ตำบลคือ ต.ท่าศาลา และต.เขาสามยอด ของอ.เมืองลพบุรีที่ยังน่าเป็นห่วง หลังฝนถล่มลงมาซ้ำช่วงคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในหลายชุมชนของเทศบาลเมืองเขาสามยอดถูกน้ำท่วมขัง เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ ขณะที่ถนนสายลพบุรี-สระบุรีถูกน้ำท่วมขังสูง 20-30 เซนติเมตร เป็นระยะทางกว่า 500 เมตร ทำให้การสัญจรไปมาลำบาก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลเมืองเขาสามยอด 10 ชุมชนระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร- 1 เมตร ชาวบ้านเดือดร้อนหลายร้อยครัวเรือนและน้ำที่ท่วมมาหลายวันทำให้น้ำเริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก โดยนายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีนำเครื่องสูบน้ำจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยมาติดตั้งเพิ่ม เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ เกรงถ้าฝนตกเพิ่มจะทำให้ระดับน้ำสูงไปกว่านี้
ปทุมธานีผวา’ปลิง’อาละวาด
ขณะที่ฝนซึ่งตกหนักช่วงค่ำวันเสาร์ต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง เนื่องจากระบายไม่ทัน ทั้งในกทม.และปริมณฑล การจราจรติดขัดอย่างหนัก เพราะมีปัญหาน้ำท่วมพื้นถนน อย่างที่ชุมชนบางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะที่หมู่บ้านรังสิตซิตี้ มีน้ำท่วมขังสูง 30 เซนติเมตร ส่วนที่ ชุมชนศาลาแดง บางกระดี ต.บางกระดี อ.เมืองปทุมธานี น้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนหลายหลังทำให้สิ่งของเสียหาย เพราะขนย้ายไม่ทัน อีกทั้ง มีปลิงควายที่มาพร้อมกับน้ำจำนวนมาก สร้างความหวาดผวาให้ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง วันเดียวกัน นายธวัชชัย อึ้งอำพรวิไล นายกเทศบาลบางกระดีเข้าตรวจสอบสภาพน้ำท่วมภายในชุมชนศาลาแดง บางกระดี ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นพื้นที่ต่ำสุดในพื้นที่ ที่เกิดปัญหาน้ำเข้าท่วมก่อนชุมชนอื่นๆ พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือ
แจ้งวัฒนะสาหัสรอระบายอื้อ
ส่วนกทม.หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม รอการระบายตั้งแต่ช่วงค่ำวันเสาร์แต่ยังไม่หมด ส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดวันนี้ (25 กย.) โดยเฉพาะภายในซอยเมืองทองธานี จ.นนทบุรี เกิดน้ำท่วมสูง ทำให้บัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่มีกำหนดซ้อมใหญ่ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประชาชนทั่วไปที่พักอาศัยอยู่ภายในซอย ต้องใช้บริการรถบรรทุกจากทหารหน่วย ปตอ.พัน3 ลพบุรี เดินทางเข้า-อกภายในซอยดังกล่าว รวมถึงบริเวณชุมชนประชานิเวศน์ที่มีน้ำท่วมขัง สร้างปัญหาในการสัญจร
ย่านรามอินทราจมประจำทุกปี
ด้าน นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผอ.สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจภายในหมู่บ้านสวัสดิการนายทหาร ย่านรามอินทรา61 เขตบางเขน ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยย้ำว่า วันนี้(25 ก.ย.)ได้ระดมเจ้าหน้าที่ พร้อมนำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่จำนวน 2เครื่องมาช่วยเร่งสูบน้ำทำให้พื้นที่ภายในหมู่บ้านเริ่มแห้งแล้ว เหลือเพียงซอย14กับ16 ที่ยังมีน้ำท่วมขังรอการระบายอยู่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหากฝนไม่ตกลงมาซ้ำอีก
นางชวนชม มานิตยกุล เล่าว่า อยู่ที่นี่มานานเกือบ 30ปี ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝนมาโดยตลอด แต่ปีนี้ถือว่าหนักกว่าที่ผ่านมา เพราะระดับน้ำสูงเกือบฟุต ยอมรับผวาทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก ทำได้เพียงก่ออิฐบล็อกกั้นน้ำเข้าบ้าน
นครสวรรค์พืชเกษตรสูญแสนไร่
ที่จ.นครสวรรค์ มวลน้ำจำนวนมากที่ไหลบ่ามาจากจ.พิจิตรและกำแพงเพชร ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมทุ่งนาข้าวใน ต.ท่าไม้ ต.พิกุล ต.บางเคียน ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง และต.บางพระหลวง ต.เกรียงไกร อ.เมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวง พร้อมเก็บเกี่ยวได้ในอีก 1 สัปดาห์เสียหายหลายหมื่นไร่ และมวลน้ำจากเพชรบูรณ์ยังไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวบ้านเรือนประชาชนใน 6 ตำบลของอ.ท่าตะโก นาข้าวเสียหายอีกกว่า 2 หมื่นไร่ ส่วนมวลน้ำป่าจากแม่วงก์ ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูก และเขตเศรษฐกิจของอ.ลาดยาวเสียหาย นาข้าว ไร่มัน ไร่อ้อยจมน้ำอีกว่า 3 หมื่นไร่ ชาวไร่ต้องพายเรือไปเก็บฝักข้าวโพดที่จมน้ำอย่างทุลักทุเล
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ เกษตรจ.นครสวรรค์เปิดเผยว่า พื้นที่ทั่วไปของจ.นครสวรรค์มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ พอมีฝนตกติดต่อนานหลายวันทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่กักเก็บในพื้นที่มีปริมาณมาก ประกอบกับช่วงสัปดาห์ที่แล้วเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และในพื้นที่ทุกอำเภอ ทำให้เกิดน้ำป่าทะลักท่วมพืชผลทางการเกษตรของ อ.แม่วงก์ อ.ลาดยาว อ.บรรพตพิสัย และ อ.โกรกพระประกอบกับเกิดน้ำป่าไหลทะลักมาจาก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ลพบุรี มาสมทบกับน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วม อ.หนองบัว อ.ไพศาลี อ.ตากฟ้า อ.ตาคลี อ.ท่าตะโก พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ 154,220 ไร่
ชาละวันเจอน้ำป่าระลอก2
ขณะที่จ.พิจิตร น้ำป่าทะลักรอบ 2 บ้าน 70 หลังถูกตัดขาดโลกภายนอก น้ำท่วมในพื้นที่หมู่ 3 บ้านสถานีดงตะขบ ต.บางไผ่ อ.บางมูลนากเพิ่มระดับรุนแรง หลังมวลน้ำป่าก้อนใหม่จากเทือกเขาเพชรบูรณ์ หลากมาตามลำคลองสาขา และระบายออกแม่น้ำน่านที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าไม่ได้ ทำให้ทะลักท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 70 หลังเป็นรอบที่ 2 รวมถึงหลากท่วมผิวจราจร บนถนนสายบางไผ่ – ดงตะขบ เป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตรและมีสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านต้องใช้บริการรถไฟสัญจรแทนรถยนต์ส่วนตัว
ฝนถล่มแม่จัน500หลังคาเรือน
หลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายพื้นที่ในเชียงราย โดยเฉพาะอ.แม่สาย ศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 12 (เชียงแสน) ส่วนอุทกวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 กรมทรัพยากรน้ำรายงานว่า ที่บ้านผาฮี้ ต.โป่งงาม อ.แม่สายมีปริมาณน้ำฝนสะสม 12 ชั่วโมง กว่า 101มิลลิเมตร ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาดอยนางนอน ดอยตุง ไหลบ่าล้นลำห้วยแม่ไร่ ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน ท่วมชุมชนบ้านเรือนที่ติดถนนพหลโยธิน สายแม่จัน-แม่สาย โดยเฉพาะบ้านป่ากว๋าว ม.1 ดง ม.5 บ้านสันกอง ม.7 และบ้านดอนชัย ม.8 ถูกน้ำท่วมแล้วประมาณ 500 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ขนข้าวของหนีน้ำไม่ทัน ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ถนนบางจุดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ หลังเกิดเหตุ นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายสั่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ขณะที่บรรยากาศทั่วไปยังครึ้มฟ้าครึ้มฝนตลอดทั้งวัน สลับกับมีฝนโปรยปรายเป็นระยะ