มูลค่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นถึง ๘๕ เท่า
ในการแถลงข่าวที่จัดโดยสำนักงานสารสนเทศ คณะรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ ๒๙ ก.ค.๖๔ ซึ่งได้เชิญ นายเหริน หงปิน (任鸿斌) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้ง นายจาง เส่ากัง (张少刚) รองประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน และ นายหลิว หงอู่ (刘宏武) รองประธานเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง เพื่อแนะนำความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียน และงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๘ (介绍中国-东盟经贸合作情况暨第18届中国-东盟博览会) และการประชุมสุดยอดธุรกิจ การลงทุนจีน-อาเซียน (中国-东盟商务与投资峰会有关情况) โดยนายเหริน หงปิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญดังนี้
๑. อาเซียนเป็นพื้นที่สำคัญที่อยู่ใกล้กับจีนสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (一带一路” ) ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งในการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน และการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๗ เมื่อปีที่แล้ว โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เสนอ “การปรับปรุงสี่ประการ” หรือ “四个提升” อันได้แก่ (๑) การเพิ่มระดับของความไว้วางใจทางการเมืองซึ่งกันและกันระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนในทุกระดับ (๒) การเพิ่มระดับของความร่วมมือในทางปฏิบัติระหว่างทั้งสองประเทศโดยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ (๓) การเพิ่มระดับของความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างคนสู่คนและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (๔) การเพิ่มระดับของการตอบสนองร่วมกันต่อความท้าทายระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคโดยการเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงาน ทั้งนี้ เพื่อรักษาแนวโน้มที่ดีของการพัฒนาและความมั่งคั่งในภูมิภาค รวมทั้งการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียน โดยใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
๒. ความคิดริเริ่มที่สำคัญของจีนได้ชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน โดยในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ภายใต้การดูแลและคำแนะนำร่วมกันของผู้นำของจีนและประเทศในอาเซียน ทำให้ระดับของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียนได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม กล่าวคือ
๒.๑ การยกระดับความร่วมมือทางการค้าระดับทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ขนาดของมูลค่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนได้เพิ่มขึ้นถึง ๘๕ เท่า
๒.๒ การพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนแบบสองทางที่แข็งแกร่ง
๒.๓ ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานได้บรรลุผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง
๒.๔ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนั้นมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น
๓. ขั้นตอนต่อไปในการส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียน
๓.๑ การเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการแพร่ระบาดของโรค
๓.๒ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต่อไป โดยดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน และส่งเสริมการดำเนินการตามข้อตกลง RCEP
๓.๓ การขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน โดยเสริมสร้างความสอดคล้องของยุทธศาสตร์การพัฒนาระหว่างจีน-อาเซียน
บทสรุป งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๘ และการประชุมสุดยอดธุรกิจ การลงทุนจีน-อาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง ตั้งแต่วันที่ ๑๐ – ๑๓ ก.ย.๖๔ จะเป็นเวทีปฏิบัติสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ย.๖๓ จีนและอาเซียนได้ร่วมกันลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะส่งเสริมการสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและบรรลุผลลัพธ์ที่สำคัญ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคหลังจากโรคระบาดและการรักษาเสถียรภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://mp.weixin.qq.com/s/UWH73hzd0ixUMZ6M83yEeQ )
นำเสนอข่าว/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนและโครงการคลองกระ
9/8/2021