วันที่ 5 สิงหาคม 2564 : พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย,พ.ต.อ.อาภากร โกมลสุทธิ รอง ผบก.สส.สตม.,พ.ต.อ.มานะ นาคทั่ง รองผบก.ตม.5,พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงค์ชัย ผกก.สส.บก.ตม.3 และ พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ได้เดินทางไปยัง ตม.จ.กาญจนบุรี เพื่อเรียกประชุมและวางมาตรการป้องกันการทะลักเข้าประเทศของชาวเมียนมา หลังเกิดกระแสข่าวว่าชาวเมียนมาจะหลบหนีการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการระบาดหนักในประเทศเข้ามายังชายแดนไทยด้านตะวันตก โดยมี นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี,พล.ต.ต.วรณัน สุขเจริญ ผบก.ภ.จ.กาญจนบุรี และ พ.ต.อ.หฤษฎ์ เอกอุรุ รองผบก.ตม.3 รรท.ผกก.ตม.จ.กาญจนบุรี เข้าร่วมประชุมด้วย
พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าวว่า ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้เดินทางมาวางมาตรการป้องกันคนต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง เพราะในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็เหมือนกับภาวะสงคราม เป็นที่ทราบดีว่าชาวเมียนมาก็พยายามเข้ามาหลบภัยในเมืองไทยผ่านทางช่องทางธรรมชาติ และบางส่วนก็ติดเอาเชื้อไวรัสเข้ามาในไทยด้วย ดังนั้นจึงร่วมกับหน่วยงานชายแดนทั้งฝ่ายปกครอง,ทหาร,ตำรวจ และจนท.เมียนมา ร่วมกันประสานส่งกลับคนต่างด้าวให้กลับประเทศ เพราะทาง สตม. และจังหวัดไม่สามารถนำมากักตัวในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ได้แล้ว เนื่องจากจำนวนที่พักและสถานกักกันโรคมีไม่เพียงพอ
“ถึงเวลาที่แต่ละหน่วยต้องเอาความจริงมาคุยกันและต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค ตนเห็นด้วยกับฝ่ายปกครองที่มีแนวทางเป็นแนวทางเดียวกันคือการประสานประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งคนต่างด้าวกลับประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดในไทย” พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าว
มีรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมทุกฝ่ายทั้ง สตม.,ฝ่ายปกครอง,ทหาร และแพทย์ ได้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ชายแดนหากพบเห็นการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองก็ให้ดำเนินการประสานหน่วยงานชายแดนเมียนมาส่งคนต่างด้าวกลับออกนอกประเทศทันที อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีผู้นำพาโดยผิดกฎหมายให้ดำเนินการจับกุมเฉพาะผู้นำพานั้นมาดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดทันที ส่วนผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองมาก็ให้ประสานส่งกลับไปทางเดิม เพื่อเป็นมาตรการสูงสุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับสถานการณ์ในห้องกักของ ตม.จังหวัดกาญจนบุรี นั้น พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อ 34 คน โดยแยกตัวออกจากผู้ต้องกักคนอื่นๆที่มีอยู่รวมกว่า 300 คนแล้ว และได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นที่ห้องกัก โดยประสานกับแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว เพราะผู้ป่วยไม่มีอาการหนัก ขอประชาชนอย่าตกใจเพราะผู้ติดเชื้อนั้นอยู่ในห้องกักที่มีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุมระดับสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ ได้เข้าไปตรวจภายในห้องกัก ตม.จ.กาญจนบุรี ด้วยตนเอง โดยมีการสวมชุดพีพีอีและอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิด ร่วมกับแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของห้องกักตัวคนต่างด้าวด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผบก.ตม.3 เซ็นคำสั่งกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ใจความว่า ด้วยปรากฏข้อมูลข่าวสารทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ว่าตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีข้าราชการตำรวจและบุคลากรในสังกัด รวมถึงผู้ต้องกักในความรับผิดชอบ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับอาจจะมีการปล่อยปละละเลย ขาดการควบคุม กำกับดูแลเอาใจใส่ รวมถึงช่วยเหลือ ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงให้ พ.ต.อ.จักษ์ ยังให้ผล ผกก.ตม.จ.กาญจนบุรี ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 โดยให้ขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม และให้ พ.ต.อ.หฤษฎ์ เอกอุรุ รอง ผบก.ตม.3 รรท.ผกก.ตม.จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ สตม. ได้เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อออนไลน์ กรณี ตม.จ.กาญจนบุรี รับ 4 ต่างด้าว โดยไม่ผ่านจุดคัดกรองโรค ทำให้มีผู้ต้องกักอื่นติดเชื้อโควิด-19 นั้น สตม. ขอย้ำว่า คนต่างด้าวทั้ง 4 ราย ผ่านจุดคัดกรองโรคและมีใบรับรองผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ต่อมาพบว่ามีผู้ต้องกักติดเชื้อ จึงได้แยกตัวผู้ต้องกักที่ติดเชื้อไปยังห้องแยกจากผู้ต้องกักอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และ ตม.จ.กาญจนบุรี ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลให้มาตรวจหาเชื้อผู้ต้องกักทั้งหมด พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 34 ราย ซึ่งทางสตม. ได้ตั้ง รพ.สนาม โดยนำบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์จากการจัดตั้ง รพ.สนามที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และ รพ.สนามของ สตม. ที่โรงยิม สโมสรตำรวจ มาร่วมดำเนินการจัดตั้งเพื่อรองรับผู้ที่ติดเชื้อต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน