“เลขาป.ป.ช.” เผย “สุภา” ขอถอนตัวจาก ยิ่งลักษณ์ แล้ว 1 คดี เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แจงคดีน้ำท่วม 54 “มาร์ค” ถูกร้องพ่วงด้วย ปัดจ้องเล่นงานเฉพาะพท.
24 ก.ย.59 ที่ผ่านมา นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทนายความยื่นขอความเป็นธรรมต่อป.ป.ช.ขอให้เปลี่ยนตัวน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ออกจากการเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ทุกคดี ว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมป.ป.ช.ทราบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เข้าข่ายการคัดค้านเปลี่ยนตัวได้หรือไม่ รวมถึงการให้น.ส.สุภาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.จะนำข้อมูลมาพิจารณารวมกัน คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุป
นายสรรเสริญ กล่าวว่า การจะเข้าข่ายเปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการไต่สวน ต้องเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 46 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 อาทิ เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องราวที่กล่าวหามาก่อน เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา หรือเป็นเครือญาติของผู้กล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหา หากไม่เข้าข่ายองค์ประกอบเหล่านี้ ก็ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการไต่สวน รวมทั้งต้องไม่ใช่การคิดไปเองของผู้ถูกกล่าวหาว่า กรรมการป.ป.ช.ผู้นั้น มีเหตุโกรธเคืองหรือเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะหาก กรรมการป.ป.ช.ได้ขึ้นไปเบิกความต่อศาลในคดีที่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ก็ถือเป็นการทำตามหน้าที่ ไม่ถือเป็นเหตุจะมาอ้างได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้ง อย่างไรก็ตามล่าสุดในการประชุมป.ป.ช.วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.สุภาขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ 1 คดีคือ กรณีไม่ยอมดำเนินการตามข้อเสนอ ป.ป.ช.ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลราคากลางจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากกรณีดังกล่าวน.ส.สุภาเคยทำหน้าที่เป็นรองปลัดกระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ แม้จะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดี แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย น.ส.สุภาจึงขอถอนตัวจากคดีดังกล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่น.ส.สุภาถูกตั้งเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึง 6 คดี เนื่องจากป.ป.ช.มีการแบ่งงานตามหน้าที่ให้กรรมการป.ป.ช.แต่ละคน กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคดีของนักการเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง ซึ่งน.ส.สุภารับผิดชอบอยู่ ดังนั้นคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ส่วนใหญ่จึงอยู่ในความดูแลของน.ส.สุภาเป็นหลัก ยกเว้นหากคดีนั้นๆมีคนอื่นๆที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า หรือเห็นว่าน.ส.สุภามีงานมากเกินไป ก็อาจพิจารณามอบหมายให้กรรมการป.ป.ช.คนอื่นเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนแทนได้ ไม่ได้หมายความว่า ป.ป.ช.มอบหมายคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้น.ส.สุภาดูแลทั้งหมดทุกคดี
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนคดีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการบริหารจัดการเก็บกัก ระบายน้ำผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 นั้น เป็นคดีเดิมที่ร้องเรียนมาตั้งแต่สมัยป.ป.ช.ชุดที่แล้ว เป็นกรณีที่มีผู้มาร้องเรียนต่อป.ป.ช.ให้ไต่สวนการบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีการบริหารงานการเก็บกักและระบายน้ำผิดพลาด ในช่วงปี 2553 -2554 จนเป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนทั้งนายอภิสิทธิ์และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่เป็นคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว หลังจากนี้ป.ป.ช.จะไปไต่สวนว่า ในแต่ละรัฐบาล มีการบริหารจัดการเรื่องน้ำกันอย่างไร ยืนยันว่า ป.ป.ช.ทำงานอย่างเป็นธรรม ไม่ได้จ้องเล่นงานเฉพาะน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือพรรคเพื่อไทยตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด.