สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2021 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ระหว่างวันที่ 18–25 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook NRCT เป็นวันที่ 7 โดยเป็นการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ของ (วช.) และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมโดยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน (วช.) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมออนไลน์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลกับประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งความกังวลจากจากการติดเชื้อและความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมา โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคดควิด-19 เกิดจากการกลายพันธ์ของเชื้อ การเกิดครัสเตอร์ใหม่ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายพื้นที่ของประชาชน และการป้องกันตัวเองของประชาชน จึงก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพจิต ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และด้านการจ้างงาน จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
โดย (วช.) มีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ระยะแรกของการระบาด เริ่มเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง เริ่มควบคุมสถาณการณ์ได้มากขึ้น เมื่อควบคุมการระบาดได้ และเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ และจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม การติดตามประเมินผลวัคซีน การศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน ชุด PAPR หน้ากาก silicone mask N99 ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ หน้ากาก KN95 เครื่องพ่นละอองนาโน การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร เช่น กระชายขาว และฟ้าทะลายโจร
ในปีงบประมาณ 2565 มีกรอบการวิจัยจำนวน 14 ประเด็น โดยเป็นกรอบการวิจัยและนวัตกรรมทั้งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 และรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการเสวนา เรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 และรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ เพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ นพ.จิตร สิทธีอมร,ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล,คุณธานินทร์ ผะเอม,นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ และนพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร
นอกจากนี้ ยังมีการแถลงผลสำเร็จจากผลการวิจัยและนวัตกรรม “Covid-19 พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ประกอบด้วย วัคซีน mRNA โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม วัคซีนใบยา โดยรศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ ชุด PAPR โดย นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ ห้อง ICU ความดันลบ และเตียงความดันลบ โดย ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ การปรับตัวของชุมชนวิถีใหม่ในสถานการณ์ Covid-19 โดย รศ.ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนายังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัย และให้ข้อแนะนำแก่นักวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการเสนอขอรับทุนวิจัยและนวัตกรรมของ (วช.) ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน