ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจด้านกีฬาอีกครั้งสำหรับ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี”(BTU) ภายใต้การกุมบังเหียนของ “รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” อธิการบดีหญิงที่ทั้งเก่งและแกร่ง หลังจากที่ประกาศศักดาคว้าเจ้าเหรียญทองใน “กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย” ถึง 3 สมัยซ้อน ตั้งแต่ครั้งที่ 45-47 อีกทั้งยังมีแชมป์โลกหญิงนักกีฬาแบดมินตันอย่าง “เมย์-รัชนก อินทนนท์” ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์
ล่าสุดชื่อเสียงทางด้านกีฬาของ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ได้กระหึ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “เทนนิส-ร.ต.พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” วัย 23 ปี นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ในฐานะศิษย์ปัจจุบัน ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬาประเทศไทย ด้วยการคว้า “เหรียญทอง” จากกีฬาโอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เลื่อนมาจากปีที่แล้วเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19) ให้กับกองทัพนักกีฬาไทยได้เป็นคนแรกและเหรียญแรก เรียกได้ว่าในวิกฤตโควิด-19 ยังมีโอกาสให้คนไทยมีความสุขใจ นับเป็นเหรียญที่สองของเธอ หลังจากเคยคว้าเหรียญทองแดงรุ่นเดียวกัน ในกีฬาโอลิมปิก 2016 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล โดยความสำเร็จในครั้งนี้มาจากการคว้าชัยชนะอย่างน่าตื่นเต้นจากนักกีฬาแดนกระทิงดุอย่างประเทศสเปน ในการแข่งขันเทควันโด้รุ่น 49 กก.
ศึกโอลิมปิกเกมส์ 2020 ครั้งนี้ นอกจาก “เทนนิส พาณิภัค” มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยังมีนักกีฬาทีมชาติเลือด BTU ร่วมลงแข่งขันด้วยอีก 6 คน 1. “เมย์-รัชนก อินทนนท์” นักกีฬาแบดมินตัน (ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์) 2. “บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์” นักกีฬาแบดมินตัน (ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์) 3. “จูเนียร์-รามณรงค์ เสวกวิหารี” กีฬาเทควันโด (ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์) 4. “ไวน์-นวพรรษ วงศ์เจริญ” นักกีฬาว่ายน้ำ (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา) 5. “หญิง-สุธาสินี เสวตรบุตร” นักกีฬาเทเบิลเทนนิส (ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์) 6. “เบญ-ส.ต.ต.สุเบญรัตน์ อินแสง” นักกีฬาขว้างจักร (ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์) โดยทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีได้ให้การสนับสนุนพร้อมอัดฉีดเงินรางวัลมอบให้กับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญต่าง ๆ กันอย่างเต็มที่
สำหรับทางด้านกีฬาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีนั้น “รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” อธิการบดี ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ใหญ่ที่สุดในย่านฝั่งธนบุรี เมื่อปี 2560, เซ็น MOU ร่วมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดศูนย์ฝึกศักยภาพกีฬาฟุตบอล อีกทั้งยังได้เปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา เพื่อมุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตที่เป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ ตลอดจนมีสามารถในการประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีโครงการและกิจกรรมทางด้านกีฬาอีกมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ทั้งนี้กีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทยนับว่าเป็นกีฬาที่มีโอกาสลุ้นเหรียญและได้รับเหรียญพอ ๆ กับกีฬามวยสากลกับยกน้ำหนักทีมชาติไทยเช่นกัน โดยนักกีฬาหญิงที่เคยได้เหรียญโอลิมปิกเกมส์ ประกอบด้วย
- “วิว-เยาวภา บุรพลชัย” เหรียญทองแดง รุ่น 49 กก. กีฬาโอลิมปิก 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นเหรียญแรกของกีฬาเทควันโด
- “สอง-บุตรี เผือดผ่อง” เหรียญเงิน รุ่น 49 กก. กีฬาโอลิมปิก 2008 กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นเหรียญเงินแรก
- “เล็ก-ชนาธิป ซ้อนขำ” เหรียญทองแดง รุ่น 49 กก. กีฬาโอลิมปิก 2012 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- “เทม-เทวินทร์ หาญปราบ” เหรียญเงิน รุ่น 58 กก. กีฬาโอลิมปิก 2016 เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล
- “เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เหรียญทองแดง รุ่น 49 กก. กีฬาโอลิมปิก 2016 เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เป็นครั้งแรกที่กีฬาเทควันโดไทยได้ 2 เหรียญในกีฬาโอลิมปิกครั้งเดียว
6.“เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เหรียญทอง รุ่น 49 กก. กีฬาโอลิมปิก 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยเหรียญทองประวัติศาสตร์ในกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ส่งผลให้ “เทนนิส พาณิภัค” เป็นสุดยอดนักกีฬาไทยคนที่ 3 ที่คว้าเหรียญกีฬาโอลิมปิกมากกว่า 1 เหรียญ ซึ่งนักกีฬาที่สามารถทำได้ก่อนหน้านี้ คือ “เติ้ล-มนัส บุญจำนง” ได้เหรียญทองมวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลท์เวลเตอร์เวท 64 กก. ในกีฬาโอลิมปิก 2004 และเหรียญเงิน รุ่นไลท์เวลเตอร์เวท 64 กก. ในกีฬาโอลิมปิก 2008 และ “แต้ว-พิมศิริ ศิริแก้ว” 2 เหรียญเงิน ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 58 กก. กีฬาโอลิมปิก 2012 และ 2016
ทางด้านสถิติเหรียญทองเทควันโดไทย นับเป็นเหรียญที่ 10 ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทย โดย 9 เหรียญทอง ก่อนหน้านั้น ได้แก่
- ปี 1996 เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา “สมรักษ์ คำสิงห์” มวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวท
- ปี 2000 เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย “วิจารณ์ พลฤทธิ์” มวยสากลสมัครเล่น รุ่นฟลายเวท
- ปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ “อุดมพร พลศักดิ์” ยกน้ำหนักหญิง 53 กก.
- ปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ “ปวีณา ทองสุก” ยกน้ำหนักหญิง 75 กก.
- ปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ “มนัส บุญจำนง” มวยสากลชาย รุ่นไลท์เวลเตอร์เวท
- ปี 2008 กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน “ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล” ยกน้ำหนักหญิง 53 กก.
- ปี 2008 กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน “สมจิตร จงจอหอ” มวยสากลสมัครเล่น รุ่นฟลายเวท
- ปี 2016 เมืองรีโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล “โสภิตา ธนสาร” ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 48 กก.
- ปี 2016 เมืองรีโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล “สุกัญญา ศรีสุราช” ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 58 กก.