กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สั่งสำนักสนับสนุนบริการสุขภาพทุกเขต เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด ย้ำเตือนประชาชนระวังป่วยโรคปอดบวมในช่วงฤดูฝน รายงานกรมควบคุมโรคปี 2559 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 19 กันยายน ทั้ง 77 จังหวัด พบผู้ป่วยแล้ว 161,294 ราย
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวต่อว่า สภาพที่มีฝนตกชุกในช่วงนี้ อากาศจะมีความชื้นสูง ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่ายและที่พบบ่อยคือโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเป็นอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอื่นๆ เช่น หัด พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคในรอบ 9 เดือนปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 กันยายน 2559 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคปอดบวมจาก 77 จังหวัด รวม 161,294 ราย ประมาณร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปและเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีผู้เสียชีวิตรวม 270 ราย เมื่อเทียบกับประชากรทุกๆ 1 แสนคน พบว่าภาคเหนือมีอัตราป่วยจากโรคนี้สูงที่สุดจำนวน 293.18 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตรา 289.37 คน ภาคใต้อัตรา 215.05 คน และภาคกลางอัตรา 197.60 คน ได้ขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.ทุกหมู่บ้าน ให้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
ด้านนายแพทย์ฐิติพงษ์ ยิ่งยง นายแพทย์ชำนาญการ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส อาจเป็นโรคแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ประมาณ 3 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอ เหนื่อยหอบง่าย และอาจมีเสมหะ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย โดยเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง จึงควรให้ความสนใจมากกว่าปกติ เช่น ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆ และมีอาการซึมลง ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีไข้สูง ซึม ไม่ดื่มน้ำหรือนม หายใจหอบเร็วหรือหายใจมีเสียงดังหวีดหรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้
สำหรับการป้องกันโรคปอดบวม ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกาย เพิ่มการรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งภายหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของ ถ้าป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกเวลาไอหรือจาม และพักผ่อนมากๆ ควรหยุดทำงาน หยุดเรียน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น