วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2565 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) NRCT Open House 2021 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ระหว่างวันที่ 18 – 25 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook NRCT เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 ของ (วช.) และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน (วช.)
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมออนไลน์ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หรือ PMU (Program Management Unit) บริหารงบประมาณวิจัยด้าน ววน. ตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results: OKR) ชัดเจน โดยภายในการประชุมดังกล่าว มีการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้โปรแกรมที่ 7 แก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเกษตร
กิจกรรมภายในงานประชุมการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2565 มีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2565” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว นายวรวุฒิ ตันติวนิช ดร.สมชาย ใบม่วง ศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ดร.เกศศินี อุนะพำนัก และ ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และยังมีการแถลง “ผลสำเร็จจากผลการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน (วช.)” ของนักวิจัย ทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา,ศ. ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง,รศ. ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี,ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ และ รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน