บทความ “เมื่อจีนครองนวัตกรรมโลก” เขียนโดย อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ต่อเนื้อหาในบทความนี้คุณบรรยงพงษ์พานิช ได้เปรยความไว้ว่า…
ปี 1979 ที่เติ้ง เสี่ยว ผิง ประกาศนโยบายศก.ใหม่ ใช้ Market Economy ปีนั้นจีนมี per capita GDP แค่ $190ขณะที่ไทยมี $580 วันนี้เขามี>$7,000 แล้ว เรายังย่ำอยู่ที่ $6,000 !!
ใครๆ ก็รู้ว่า หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ การยกระดับนวัตกรรมภายในประเทศ ข้อนี้พูดอีกก็ถูกอีก แต่พูดแสนง่าย ทำแสนยาก มิฉะนั้นป่านนี้ประเทศไทยก็คงหลุดจากหุบเหวกับดักรายได้ปานกลางไปแล้ว !!
วันนี้ผมขอชวนคิดจากประสบการณ์การยกระดับนวัตกรรมของประเทศจีน ถึงแม้ว่าหลายคนจะยังร้องยี้กับสินค้าจีน แต่อย่าลืมนะครับว่าประเทศจีนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจมาจากจุดที่ต่ำเตี้ยเพียงใด ภายในระยะเวลาเพียง 30 ปี จีนได้อัพเกรดตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็น “โรงงานโลก” อย่างเต็มตัว และในวันนี้รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมาย “Made in China 2025” โดยประกาศก้องว่า ภายใน 10 ปี ข้างหน้า เราจะเห็นสินค้าจีนที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและนวัตกรรม ไม่แพ้สินค้าญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐ
จีนใช้วิธีอะไรไล่กวดญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐ ล่ะครับ?คำตอบสั้นๆ ก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา จีนใช้วิธีนำเข้าและเลียนแบบนวัตกรรมของประเทศเหล่านี้ ส่วนในปัจจุบัน จีนกำลังใช้วิธีกว้านซื้อบริษัทนวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศเหล่านี้ พร้อมกับเริ่มวางแผนลงทุน R&D ด้วยตัวเองเพื่ออนาคตด้วย
เวลาเราพูดถึง “นวัตกรรม” เรากำลังพูดถึง 1)การสร้าง“ผลิตภัณฑ์ใหม่” (สินค้าตัวใหม่) ที่มีการเพิ่มมูลค่าจากเดิม หรือที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด (นึกถึงวันที่ iPhone ออกมาวันแรกสิครับ) และ 2)การสร้าง “กระบวนการผลิต” ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นหรือใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม(นึกภาพสายพานการประกอบรถยนต์ครับ)
สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา จีนใช้วิธี “นำเข้าเทคโนโลยี”เป็นหลัก คือใช้ประโยชน์จากความล้าหลังของตัวเอง จีนไม่จำเป็นต้องลงทุนทำ R&D เพราะแค่จีนมองไปยังญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐ ก็จะเห็นตัวอย่าง “สินค้าใหม่” ที่ยังไม่มีในตลาดจีนสมัยนั้น หรือตัวอย่าง “เทคโนโลยีการผลิต” ที่ดีกว่า บางครั้งจีนยังใช้เทคนิควิชามารเรียน (เลียน) แบบเอาเลยด้วยซ้ำ
รัฐบาลจีนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานและวางแผนการยกระดับสินค้าและเทคโนโลยี โดยศึกษาข้อมูลว่า ในแต่ละภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใดน่าจะเป็นก้าวต่อไปสำหรับผู้ประกอบการจีน จากนั้นจึงประกาศเป็นแผนอุตสาหกรรมแห่งชาติ
ข้อดีของการนำเข้าเทคโนโลยี ก็คือ จีนไม่ต้องเสียต้นทุนในการทำ R&D เพราะ R&D เอง ก็เป็นอะไรที่พูดง่ายทำยากนะครับไม่ใช่คิดค้นแล้วจะได้ผลออกมาเสมอไป ที่หว่านเงินละลายแม่น้ำไปก็มาก ต้องลองผิดลองถูกกันหลายรอบกว่าจะได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมา
ดังนั้น เวลามีคนบอกว่า ประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศล้วนมีการลงทุน R&D ในสัดส่วนที่สูง แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ต้องหว่านเงินทำ R&D กันมหาศาลเสียก่อน ประเทศจึงจะเจริญได้นะครับ สาเหตุที่ประเทศที่เจริญแล้วต้องลงทุน R&D สูง เพราะเขามีทั้งนวัตกรรมสินค้าและกระบวนการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดแล้ว จึงไม่รู้จะไปนำเข้าหรือเลียนแบบนวัตกรรมขั้นต่อไปจากใครได้ทางเดียวที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ก็คือต้องลงทุนใน R&D เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่องครับ
มาถึงวันนี้ เมื่อบริษัทจีนเริ่มทำกำไรและสะสมทุนจนมี “ทุนหนา” แล้ว จึงเริ่มขยับไปใช้วิธีกว้านซื้อบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเสียเลย เรียกว่าได้มาทั้งเทคโนโลยี ได้ทั้งทีม R&D ไว้พัฒนาปรับปรุงต่อยอด ตอนนี้นักลงทุนจากจีนนับเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley แหล่งรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ ของสหรัฐ นอกจากนั้น ยังมีสถิติว่ามีบริษัทจีนเข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีของเยอรมันอย่างน้อย 1 แห่งต่อสัปดาห์ ในช่วงปีที่ผ่านมา
โมเดลธุรกิจที่ผู้ประกอบการจีนใช้ ก็คือ เข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีที่ดูมีแวว และนำเทคโนโลยีนั้นมาพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับตลาดจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล โดยอาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในประเทศจีน
ตัวอย่างเช่น The Beijing Electric Vehicle Corporation (BEVC) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Atieva บริษัทเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐ และตั้งเป้าพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับขายตลาดชนชั้นกลางและล่างในเมืองระดับรองและในชนบทของจีน หรืออีกตัวอย่างที่โด่งดังคือ Midea Group ของจีน เข้าซื้อบริษัทผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของเยอรมนีอย่าง Kuka AG ด้วยเงิน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าเอาเทคโนโลยีของ Kuka AG มาพัฒนาระบบโรงงานภายในจีนให้ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานที่นับวันจะมีค่าแรงที่สูงขึ้น
เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการสัมมนาใหญ่เรื่องนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หยาง ยู่ ฉวน นักลงทุนชื่อดังของจีนได้ให้ข้อคิดว่า ผู้ประกอบการจีนต้อง “เล่นเกม” เพื่อยึดครองนวัตกรรมโลกให้เป็น โดยการยึดครองนวัตกรรมต้องอาศัยสามปัจจัย คือ
- ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีใดอยู่ในระดับแนวหน้าที่สุดของโลก ซึ่งต้องอาศัยทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำระดับโลกมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท เขาจึงแนะนำให้บริษัทจีนสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยเชื้อสายจีนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลก
- ต้องนำนวัตกรรมนั้นมาพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับตลาดจีน ซึ่งต้องอาศัยผู้ประกอบการในภาคการผลิตจริง และอาศัยประโยชน์จากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของจีน
- ต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อต้องการจะขยายกำลังการผลิต จึงต้องอาศัยนักลงทุนและกองทุนต่างๆ เข้าร่วมลงทุน เพราะบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศมักยินดีให้สิทธิการใช้เทคโนโลยีแก่บริษัทจีน โดยขอแลกเป็นหุ้นในบริษัทจีน แต่ตัวบริษัทจีนเองมักต้องการเงินทุนอีกมากเพื่อทำการผลิตให้รองรับตลาดจีนได้
ดังนั้น เพื่อยึดครองนวัตกรรม จึงต้องประสานความร่วมมือให้ได้ทั้งสามฝ่าย คือ นักวิจัยชั้นนำที่รู้ว่านวัตกรรมใดกำลังมีแวว ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในภาคการผลิตจริงและนักลงทุนที่มีเงินหนาพอที่จะสนับสนุนการผลิต
ส่วน โจว ฉี เหริน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ก็กล่าวในงานสัมมนาว่า จีนมีความจำเป็นต้องยกเครื่องระบบ R&D เพราะในบางภาคอุตสาหกรรมที่จีนทำได้ดี เริ่มไม่มีตัวอย่างจากประเทศเจริญแล้วว่าจะก้าวสู่ขั้นต่อไปอย่างไร (เพราะจีนได้ก้าวทันประเทศเหล่านั้นแล้ว) ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลจึงอาจใช้ไม่ได้ผลเหมือนแต่ก่อน และถึงคราวจำเป็นต้องอาศัย R&D และการลองผิดลองถูกมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบันทั้งภาคธุรกิจและภาควิชาการของจีนยังสู้ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้ในเรื่องระบบ R&D
มองย้อนกลับมา หนทางสำหรับ “ไทยแลนด์ 4.0” ก็คือ เราเองต้องพัฒนานวัตกรรมให้ได้ไม่ว่าจะใช้กระบวนท่าไหนในบางภาคอุตสาหกรรมที่ไทยยังล้าหลัง สามารถนำเข้าเทคโนโลยีได้ ในบางภาคอุตสาหกรรมที่เราเริ่มก้าวทันแล้ว ก็ต้องพยายามส่งเสริม R&D ส่วนใครที่มีทุนหนาพอ ก็น่าจะเสาะหาโอกาสเข้าซื้อบริษัทต่างประเทศหรือขอร่วมทุนกันในไทย เพื่อยึดครองเทคโนโลยีแนวหน้ามาใช้บ้าง
ถึงเวลาแล้วครับที่ไทยเราต้องมีหัวขบวนกลุ่มบริษัทที่เป็นเลิศด้านนวัตกรรม เพื่อนำไทยให้หลุดจากหุบเหวของประเทศรายได้ปานกลางเสียที