นักวิจัยพบว่า สุนัขมีความสามารถในการแยกแยะคำศัพท์และน้ำเสียงของมนุษย์ได้จริง โดยใช้สมองส่วนเดียวกับที่มนุษย์ใช้
งานวิจัยจากวารสารวิชาการ Science โดย Attila Andics และทีมงานเผยว่า ความสามารถในการเรียนรู้คำศัพท์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมนุษย์เท่านั้น โดยมนุษย์มีความสามารถนี้มาจากการใช้ภาษาในการสื่อสาร แต่ความสามารถในการเรียนรู้คำศัพท์นี้มีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถนำไปเชื่อมโยงระหว่างเสียงกับความหมายได้
คำเป็นพื้นฐานของภาษาของมนุษย์ แต่เราไม่ค่อยจะพบว่าสัตว์ชนิดอื่นใช้เสียงในการสื่อสาร นอกจากนี้ ระดับเสียงสูงต่ำยังเป็นอีกวิธีที่มนุษย์ใช้ในการสื่อคำพูดเช่นกัน เช่น คำพูดชื่นชมมักจะมีระดับเสียงที่สูงกว่าและมีการขึ้นลงมากกว่า กล่าวคือ มนุษย์ใช้ทั้งคำศัพท์และระดับเสียงในการสื่อสาร
ล่าสุด Andics และทีมวิจัยได้ศึกษาว่า สุนัขนั้นมีกลไกเดียวกันกับที่มนุษย์มีหรือไม่ โดยได้ทำการทดลองให้สุนัขฟังเสียงของผู้ฝึก โดยผู้ฝึกจะออกเสียงคำศัพท์โดยใช้ระดับเสียงที่แตกต่างกัน ทั้งพูดให้เป็นคำชมและพูดแบบปกติ ทั้งนี้ คำศัพท์และระดับเสียงจะจับคู่ในแบบที่แตกต่างกันไป ได้แก่ พูดคำชมในระดับเสียงชม พูดคำชมในระดับเสียงปกติ พูดคำปกติในระดับเสียงชม และพูดคำปกติในระดับเสียงปกติ
นักวิจัยได้ใช้เครื่องสแกนสมอง fMRI เพื่อดูว่าสมองส่วนใดของสุนัขที่ได้รับการกระตุ้นบ้าง ผลที่ออกมาเผยว่า ไม่ว่าระดับเสียงจะเป็นเช่นไร สุนัขจะประมวลคำศัพท์ และรู้จักคำศัพท์ได้ว่าเป็นคำที่โดดเด่น และยิ่งกว่านั้น กิจกรรมในสมองยังมีความคล้ายเคียงกับมนุษย์อีกด้วย นั่นคือ ใช้สมองซีกซ้ายในการทำงาน
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบด้วยว่า สุนัขรู้จักประมวลผลระดับเสียงที่มากับคำศัพท์ โดยใช้สมองซีกขวาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน เช่นเดียวกับในมนุษย์ โดยรวมแล้ว นักวิจัยพบว่า สุนัขใช้ทั้งความหมายของคำและระดับเสียงเพื่อประมวลผลว่าการออกเสียงคำๆนั้นถือว่าเป็นรางวัลหรือไม่ ซึ่งก็หมายความว่า สุนัขน่าจะเข้าใจทั้งคำและระดับเสียงของมนุษย์
นักวิจัยยังชี้ด้วยว่า ตามทฤษฎีวิวัฒนาการแล้ว สุนัขที่ถูกเลือกให้อยู่รอดน่าจะเป็นสุนัขที่ถูกเลี้ยงมา และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโครงสร้างสมองที่เกี่ยวกับการประมวลผลภาษาในสุนัข แต่วิวัฒนาการยังไม่เร็วขนาดนั้น
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีความสามารถในการคิดค้นคำศัพท์