วันที่ 6 ก.ค.64 ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ได้ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่อง “การจัดการห่วงโซ่อุปทานมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองครบวงจรสู้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด -19” เนื่องจากโควิด–19 ส่งผลกระทบโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีผลผลิตเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศและไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ขณะที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน
จากข้อมูลทางสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2563 ประเทศไทยส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด 87,260 ตัน มูลค่าการส่งออก 1,953.2 ล้านบาท โดยผลผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ มาเลเซีย รวมทั้ง รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็น 1 ในตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการพัฒนาการส่งออกมะม่วงสดไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ได้รายงานผลการสำรวจตลาดผักและผลไม้ของไทยในรัสเซีย พบว่าปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ดังนั้น การยืดอายุมะม่วงให้เก็บได้นานขึ้น เพื่อพึ่งพาการส่งออกทางเรือ น่าจะเป็นทางทุเลาปัญหา จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนและทีมวิจัย ได้พัฒนาเทคนิคการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ (Controlled Atmosphere Storage) ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในระหว่างการขนส่งได้ 15 วัน และมีอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 6 วัน ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ MAP (Modified atmosphere packaging) โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สามารถเก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถนำมาใช้แทนการขนส่งทางเรือได้ และ ผลผลิตมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง พร้อมทั้งต้นทุนการขนส่งที่ลดลง ซึ่งมีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายากและมีราคาแพงในประเทศปลายทาง
“ดังนั้น เพื่อให้มีผลมะม่วงได้มาตรฐานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันตลาดในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย,ดูไบ,ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย” ผศ.ดร.พีระศักดิ์ฯ กล่าวในที่สุด
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน