ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ได้มีคำวินิจฉัยของ ประธานศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ วท.13/2564 คดีระหว่าง นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ (ป.ป.ช.),น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ (ป.ป.ช.) และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3 โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,ม.200,ม.91 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ม.172 ม.183 จากกรณีที่ นายประหยัดฯ ถูกชี้มูลคดียื่นทรัพย์สินเป็นเท็จ คดีนี้ นายประหยัดฯ ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
แต่ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ปรากฎว่า นางสุภาฯ จำเลยที่ 2 และ นายวงศ์สกุลฯ จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัย เรื่องขอบเขตอำนาจศาล โดยจำเลยที่ 2-3 อ้างว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงขอเสนอปัญหาเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ไปให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนมายังประธานศาลอุทธรณ์ เป็นผู้วินิจฉัย
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาตรา 172,183 อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบปี 2559 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ผู้สื่อข่าวมีรายงานอีกว่า สำหรับการฟ้องร้องกัน ระหว่าง นายประหยัดฯ กับ พล.ต.อ.วัชรพลฯ,นางสุภาฯ และ นายวงศ์สกุลฯ เป็นต้นเรื่องของคดีที่ นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า แทรกแซงการพิจารณาคดี ระหว่างโจทก์ และจำเลยในคดีข้างต้น เป็นเหตุให้ นายปรเมษฐ์ฯ ถูก ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จเจริง และ ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งให้ ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1
โดยนายปรเมษฐ์ฯ เห็นว่า การที่ตนเองถูกย้ายจากการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม นายปรเมษฐ์ฯ จึงใช้สิทธิ์ในการยื่นฟ้อง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น รวม 3 คน และ ยื่นฟ้อง ประธานศาลฎีกา ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ด้วย ซึ่งคดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นตรวจฟ้อง
นอกจากนี้ นายปรเมษฐ์ฯ ยังยื่นฟ้อง นางสุภาฯ กรรมการ (ปปช.) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ในความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี โดยศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 19 ก.ค.64 นี้ เวลา 13.30 น.
ขณะเดียวกัน นายปรเมษฐ์ฯ ยังได้ยื่นคำร้องต่อ นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่ถูกคำสั่งของ ประธานศาลฎีกาย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่มีความเป็นธรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการ หรือ (ก.ต.) ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติตามที่มีการเสนอให้พักราชการนาย ปรเมษฐ์ฯ ในระหว่างการสอบสวน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุม (ก.ต.) ก็มีมติ 9 ต่อ 6 ไม่เห็นชอบการพักราชการ นายปรเมษฐ์ฯ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน