ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลฎีกา สนามหลวง นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการครั้งที่ 14/2564 โดยมีการพิจารณา เเละมติที่น่าสนใจดังนี้
โดยที่ประชุมมีมติตามที่มีการเสนอให้พักราชการนาย ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อดีตอธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 1 ระหว่างสอบสวน ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 74 เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูก ตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถ้า (ก.ต.) เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือ พิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
โดยก่อนหน้านี้ (ก.ต.) เคยมีมติว่ากรณีที่เป็นวินัยร้ายเเรงให้ส่งให้ (ก.ต.) พิจารณาในเรื่องการสั่งพักราชการทุกกรณี
ในการลงมติในครั้งนี้มีการยื่นร้องให้ นางเมทินีประธานศาลฎีกา ไม่มีสิทธิ์ลงมติเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย กรณีที่เคยถูกนายปรเมษฐ์ฯ ยื่นฟ้อง เเต่ที่ประชุม (ก.ต.) มีมติเห็นว่าไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียอนุญาตให้ลงมติได้
โดยที่ประชุม (ก.ต.) มีมติ 9 ต่อ 6 ไม่เห็นชอบพักราชการ นายปรเมษฐ์ฯ
สำหรับนายปรเมศฐ์ฯ ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำ ที่ อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน (ป.ป.ช.),น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ (ป.ป.ช.) และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จึงถูกย้ายไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1
ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค.64 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
โดยก่อนหน้านี้ นายปรเมษฐ์ฯ ได้ยื่นฟ้อง 3 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งอยู่ในชั้นตรวจคำฟ้อง ส่วนคดีที่ ได้ยื่นฟ้อง ประธานศาลฎีกา นั้น ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง แจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสารเพิ่มเติม และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 6 สิงหาคม นี้
ขณะที่ นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 1 ก็รู้สึกดีใจ และขอขอบคุณ (ก.ต.) เสียงข้างมาก ที่ยังพิจารณาให้ความยุติธรรม และเป็นธรรม ทั้งที่ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในชั้นต้น ทำการสอบสวนไม่ชอบด้วยประกาศ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ในข้อ 4 ข้อ 6 ข้อ 8 และข้อ 9 และที่ ประธานศาลฎีกา แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ก็รีบเร่ง เร่งด่วน ด่วนสรุปความเห็นต่อประธานศาลฎีกา โดยที่ ตนเองยังไม่ทราบประเด็นข้อเท็จจริงใดที่ถูกร้องเรียน อีกทั้งยังไม่ได้ชี้แจง ในส่วนที่เป็นผลร้ายและยังไม่ได้นำพยานเข้าสืบ แก้ในข้อที่เป็นผลร้ายแก่ตน และสรุปความเห็น ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประกาศดังกล่าว ส่งให้ประธานศาลฎีกา
จากนั้น ประธานศาลฎีกา ทำการแต่งตั้ง กรรมการสอบวินัยร้ายแรงแบบเร่งรีบ และรีบด่วน ภายในไม่กี่วันทำการ ทั้งที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระธรรมนูญศาล และเป็นเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ย่อม มีความเป็นอิสระ ปราศจาคการแทรกแซงจาก บุคคลหรือองค์กรอื่นใด และต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย อย่างเสมอภาคกัน และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน ตามประกาศ คณะกรรมการฯ อย่างเสมอภาคไม่เร่งรัด รีบด่วน และด่วนสรุปความเห็นเช่นนี้ เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมรายอื่นที่ถูกกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น และ คณะกรรมการสอบสวนวินัยชุดอื่น ยังใช้เวลาสอบสวนหลายเดือน เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีระยะเวลา ในการรวบรวมพยานหลักฐาน นำสืบแก้ในผลร้าย อีกทั้งจะต้องทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้ร้องเรียนกล่าวหาในประเด็นและข้อเท็จจริงใดที่ร้องเรียนกล่าวหานั้น แต่ตนเองยังไม่ได้ทราบเลย จึงมองว่าทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนนี้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน