กลุ่มคลังสมองอังกฤษเตือนโลกยังขาดเตรียมการป้องกันดาวเทียมถูกโจมตีไซเบอร์ หากเกิดขึ้นจะก่อความเสียหายใหญ่หลวง
ชาทัม เฮาส์ ( Chatham House ) กลุ่มคลังสมองแห่งอังกฤษเปิดเผยรายงานที่ชี้ว่า หลายประเทศทั่วโลก ไม่มีมาตรการเพียงพอในการป้องกันดาวเทียมในห้วงอวกาศจากการถูกโจมตีด้วยการแฮ็ก หรือ การส่งไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าไปในระบบดาวเทียม ซึ่งผลที่ตามมาอาจถึงขั้นหายนะ จากความเสียหายต่อระบบการค้า บริการทางการเงิน จนถึงการที่ผู้ก่อการร้ายเข้ายึดครองอาวุธสำคัญทางยุทธศาสตร์
ระบบโครงสร้างพื้นฐานของโลกจำนวนมากพึ่งพาบริการจากดาวเทียม ทั้งธุรกิจที่สำคัญจนถึงเทคโนโลยีระดับสูงบนภาคพื้นดินที่ต้องอาศัยดาวเทียมเป็นส่วนขับเคลื่อนการดำเนินการ และแม้ว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศจะมีการรักษาความมั่นคงของเทคโนโลยีบนภาคพื้นเป็นอย่างดี แต่ช่องโหว่ต่อการโจมตีทางไซเบอร์ต่อดาวเทียมในห้วงอวกาศยังอยู่ และช่องโหว่เหล่านี้อาจเป็นช่องทางให้บุคคลทั่วไป กลุ่มบุคคล หรือ รัฐบาล เครือข่ายอาชญากร กลุ่มก่อการร้ายและแฮ็กเกอร์ ก่อภัยพิบัติภัยร้ายแรงบนโลกได้
ดร. แพทริเซีย ลิววิส ผู้อำนวยการแผนกความมั่นคงระหว่างประเทศขอชาทัม เฮาส์ และนายเดวิด ลีฟวิงสโตน ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ แนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ รื้อทบทวนมาตรการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ต่ออุปกรณ์ที่อยู่ในห้วงอวกาศ และเนื่องจากในปัจจุบัน โลกยังไม่มีองค์กรใดจัดการกับจุดอ่อนดังกล่าว ซึ่งหากเกิดเหตุแฮ็กระบบดาวเทียมในอวกาศขึ้นมาจริง รัฐบาลประเทศต่างๆอาจขาดหนทางรับมือกับพิบัติภัยที่เกิดขึ้นและขยายวงไปอย่างรวดเร็วได้ทัน
นั่นเป็นเพราะอวกาศเป็นพื้นที่กว้างใหญ่และถูกครอบครองโดยพลังของตลาดของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในอวกาศ มากกว่าที่จะถูกยึดครองโดยประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต เมื่อมีความต้องการในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในอวกาศมากยิ่งขึ้น
ประเด็นที่น่าห่วงคือ แต่ละประเทศจะทำอะไรไม่ได้มากนักกับภัยคุกคามนี้ แต่จะต้องร่วมกันมาตรการรับมือซึ่งไม่ควรเป็นเพียงการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพราะมีแนวโน้มว่าจะล่าช้า แต่ควรเป็นการจัดตั้งระบบความปลอดภัยไซเบอร์ใหม่ที่มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการที่บริษัทเอกชนด้านอวกาศจากทั่วโลก เข้ามาช่วยกันสกัดกั้นการโจมตีดาวเทียมได้ ขณะเดียวกัน ก็หวังว่า อุตสาหกรรมอวกาศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มพลังนำการตลาดและมีแนวคิดล้ำกว่า จะเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยไซเบอร์อย่างเร่งด่วน
ในความเป็นจริง ปัจจุบัน บางประเทศเตรียมพร้อมรับภัยคุกคามด้านนี้อยู่แล้ว เช่น จีน ที่พัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่มีพลังการประมวลผลสูงมาก กับระบบเครือข่ายการนำทาง “กาลิเลโอ” ของยุโรป ที่เพิ่งประกาศมาตรการรักษาความปลอดภัยออกมา สะท้อนถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของอุตสาหกรรมอวกาศที่จะรับมือกับภัยท้าทายนี้ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ชุมชมระหว่างประเทศที่มีเจตนารมณ์และภารกิจพัฒนาก้าวจังหวะและความคล่องตัวในการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ในอากาศที่กำลังเติบโต
cr.คม ชัด ลึก