เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดบ้านสถาบันการศึกษาทางไกล (สทก.) สำนักงาน (กศน.) และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดการศึกษาทางไกลระหว่าง สำนักงาน (กศน.) และ 8 หน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมี นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศท. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการจัดการศึกษาแบบเข้าชั้นเรียน หรือ Onsite โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายมีข้อจำกัดในการเรียน แต่ด้วยพัฒนาการและศักยภาพของเทคโนโลยีเอื้อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และสามารถเรียนรู้ได้แม้เกิดวิกฤตของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานการศึกษาทางไกล ของ (สทก.) ในสังกัด สำนักงาน (กศน.) สามารถฝ่าวิกฤต สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนในทุกช่วงวัย ได้ครบทุกมิติ โดยไม่มีข้อจำกัดเชิงพื้นที่และเวลา (Anywhere and Anytime) จึงเป็นที่มาของการเปิดบ้านสถาบันการจัดการศึกษาทางไกลและการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาทางไกล โดยมี นายวรัท พฤกษา ทวีกุล เลขาธิการ (กศน.) ร่วมลงนามกับ 8 ภาคีเครือข่าย คือ
1.กรมราชทัณฑ์ (นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดี) ให้ความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องให้กับผู้ต้องขังทั่วประเทศ
2.กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดี) ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่อง ให้กับเด็กและเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจทั่วประเทศ และจัดทำหลักสูตรการอบรม
เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตร่วมกัน
3.กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดี) ให้ความร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับผู้พิการทั่วประเทศ
4.กรมพลศึกษา (นายนิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดี) ให้ความร่วมมือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับนักกีฬาทั้งภาคภาษาไทย และภาคภาษาอังกฤษ ทั้งในและต่างประเทศ และร่วมกันจัดทำรายวิชาเลือกเสรีสำหรับนักกีฬา
5.สมาคม EIS แห่งประเทศไทย(นางวันทนาชูช่วย นายกสมาคม) ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลิตสื่อ ให้กับนักศึกษาภาคภาษาอังกฤษ
6.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดี) ให้ความร่วมมือในการเป็นหน่วยจัดอบรม สัมมนา และศูนย์สอบ CFRภาษาอังกฤษ และให้บริการวิชาการ
7.องค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (นางสาวสิริกร อุดมผล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ) ให้ความร่วมือในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับบุคลากร ขสมก. และ
8.โรงเรียนทิวไผ่งาม (ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้อำนวยการ) ให้ความร่วมมือเป็นหน่วยบริการจัดการศึกษา และร่วมจัดการศึกษาทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
รมช.ศธ.กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างยิ่ง ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ เพื่อสร้างโอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศในทุกระดับและทุกมิติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ในขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสิ่งที่สามารถตอบโจทย์การศึกษา ในเรื่องนี้ได้ ก็คือ การจัดการการศึกษาทางไกล ความท้าทายอยู่ที่ว่าเราจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาสนับสนุน และขับเคลื่อนการบริหารจัดการ การศึกษาทางไกลให้มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่สะดวก มีคุณภาพและทั่วถึง มีความทันสมัยและตอบโจทย์ Lifestyle ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
การลงนามความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นการระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร รวมทั้งความเชี่ยวชาญ ความชำนาญจากแต่ละหน่วยงาน มาร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาทางไกล ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป จะเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ ที่จะสะท้อนการทำงานแบบเกื้อกูล ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ภายใต้บทบาทอำนาจหน้าที่และความชำนาญ เชี่ยวชาญ รวมทั้งทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษาทางไกล”
Cr.ปรานี บุญยรัตน์ : ภาพ/ข่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน