สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต.1 ลพบุรี ทำงานตั้งแต่เช้ายังค่ำ ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนพื้นที่สถานการณ์ภัยแล้งและแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท ป่าสักในพื้นที่ลพบุรี
สรุปผลการของพื้นที่
เมื่อวันอังคาร ที่ 9 มิถุนายน 2564 เมื่อเวลา 09.00 น
นายประทวนสุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต.1 ลพบุรี ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยแล้ง ในคลองชัยนาท ป่าสัก พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้ชำนาญการด้านวิศวกรรม ชลประทานสำนักงานชลประทานที่ 10
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาเรื่องน้ำคลองชัยนาทตากแห้งแล้ง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับคนลพบุรี คนเมือง
นายประทวนสุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี ได้เปิดเผยกับศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ ลพบุรี ว่า “คลองชัยนาท-ป่าสัก”
หรือคลองอนุศาสนนันท์ เป็นคลองส่งน้ำสายสำคัญของ พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เป็นคลองขุดแยกออกจากแม่น้ำ ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ไหลผ่าน 8 อำเภอ ได้แก่
อ.มโนรมย์ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
อ.บ้านหมี่ อ.เมือง จ.ลพบุรี
อ.หนองโดน อ.บ้านหมอ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
และ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
รวมความยาว 132 กม. ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 800,000 ไร่ ส่งน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดิบให้กับการประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา การประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง รวม 31 แห่ง ปริมาณการใช้น้ำวันละประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตร
“สถาพปัญหา”
สภาวะอากาศที่แปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ภาคกลางเกิดความแห้งแล้งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บ่อยครั้งขึ้น โดยในปี 2558 2562 2563 และ 2564 เกิดความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีจำกัด น้ำไม่ไหล (โดยธรรมชาติ) เข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ได้ตามปกติ
สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือ ปตร.มโนรมย์ มีระดับต่ำมากไม่สามารถไหลเข้า ปตร.มโนรมย์ โดยแรงโน้มถ่วงของโลกได้ สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง, 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่องและรถสูบน้ำขนาด 1.0 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 2 คัน สูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก วันละประมาณ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร
“การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน”
เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค ของประปาภูมิภาคและประปาท้องถิ่นรวม 31 แห่ง วันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร และช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 300,000 ไร่ โดยมีการจัดรอบเวรหมุนเวียนการใช้น้ำของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 4วัน โดยช่วงที่ 1 ตั้งแต่ ท้ายปตร.มโนรมย์ ถึงปตร.ช่องแค (คลอง 1 ขวา ถึง คลอง 9 ขวา) และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ท้ายปตร.ช่องแค ถึง เหนือปตร.เริงราง (คลอง 10 ขวา ถึง คลอง 22 ขวา)ใช้น้ำรอบเวรละประมาณ 8-10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาและช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว
“การแก้ไขปัญหาระยะยาว”
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดต่ำลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ลดลงจนปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ในพื้นที่ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (ชนิดใช้น้ำมัน) ในเดือน ธ.ค. 62 ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท สูบเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตน. มโนรมย์ ต่อมาได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า (ชั่วคราว) ทดแทนเครื่องเพื่อสูบน้ำ (ชนิดใช้น้ำมัน) และเริ่มสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ส.ค. 63 เมื่อสถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น จึงหยุดเดินเครื่องสูบน้ำ จนถึงช่วงต้นเดือน พ.ย.63 ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ลดลงจนปริมาณไม่เพียงพอกับการใช้น้ำ จึงเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย.63 จนถึงปัจจุบัน (มิ.ย.64)
แต่เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับต่ำมาก (ระดับ +12.09 เมื่อ 4 มิ.ย. 64) ส่งผลให้เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งอยู่ไม่สามารถสูบน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับสภาพพื้นที่มีบริเวณจำกัด จึงสามารถสูบน้ำได้เพียงปริมาณหนึ่งเท่านั้น หากจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบอาคารถาวร ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มสำรวจจนก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน ค่าก่อสร้างประมาณ 130 ล้านบาท
ซึ่ง ทางกรมชลประทาน จะได้เสนอของบประมาณ จากทางรัฐบาล และทาง นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 ลพบุรี พร้อม กับ เพื่อน ส.ส. ของจังหวัดลพบุรี อีก 3 เขต จะได้สนับสนุน ผลักดัน ต่อไป
ด้าน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ลพบุรี เปิดเผยกับศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ ลพบุรี เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ในการติดตามสถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมทั้งหาแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงวิกฤต ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 10 (SWOC 10) ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และคณะ ได้ลงพื้นที่ดูสภาพน้ำบริเวณประตูระบายน้ำโคกกะเทียม, ประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ และจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นำลงพื้นที่และนำเสนอข้อมูล ซึ่งคลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ แต่เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักโดยแรงโน้มถ่วงได้ จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาด 5 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง ไว้แล้วนั้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม. อีกจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า (Jica) ขนาด 0.5 ลบ.ม. อีกจำนวน 4 เครื่อง เพื่อเติมน้ำให้คลองชัยนาท-ป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดเผยเพิ่มเติมต่อไปว่า
ตนเองได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างวิกฤต ในคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่ ประตูระบายน้ำบ้านโคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึง ประตูระบายน้ำมโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ระยะทาง 86 กิโลเมตรซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี
ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตของการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยแรงโน้มถ่วงได้ โดยกรมชลประทานได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาด 5 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง ไว้แล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม. อีกจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า (Jica) ขนาด 0.5 ลบ.ม. อีก จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเติมน้ำให้คลองชัยนาท-ป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้นได้ในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กว่า 3 แสนไร่ จาก 8 แสนไร่ ให้สูบน้ำตามรอบเวร ที่ หน่วยงานราชการกำหนดไว้ และชะลอการเพราะปลูกออกไปก่อน จนกว่าปริมาณฝนที่มากพอและสม่ำเสมอ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอทั้งด้านการอุปโภค และบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย
สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดลพบุรี นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สส.พรรคประชารัฐและนางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.พรรคภูมิใจไทย จะได้นำปัญหาดังกล่าวไปผลักดันในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ คณะศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ ลพบุรี นำโดย นายนันท์นภัส วงศ์ใหญ่ ได้ร่วมคณะลงพื้นที่ติดตาม สถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก สถานการณ์ภัยแล้งในครั้งนี้ด้วย
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์5 เหล่าทัพ ลพบุรี