เฟดคงดอกเบี้ย ดันค่าบาทแข็ง
ค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย หลังเฟดคงดอกเบี้ย แบงก์ชาติชี้ต้องจับตาดูช่วงปลายอีกครั้ง รวมทั้งยังมีปัจจัยจากนโยบายการเงินชาติยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลถึงไทย คลังชี้เงินสำรองเหลือพอรับกระแสเคลื่อนย้ายของเงินทุน แบงก์กรุงไทย ระบุเม็ดเงินต่างชาติยังอยู่ ส่วนศูนย์วิจัย TMB ชี้รอบหน้าเฟดขยับแน่ รอวัดใจ กนง.ปรับตามหรือเปล่า
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25 – 0.50 % ทำให้เงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากผลการประชุมเป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับในการแถลงการณ์ของเฟดเริ่มแสดงความมั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยช่วงเช้าเคลื่อนไหวในช่วง 34.64 – 67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับวานนี้ ขณะที่ความผันผวนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 3.5% สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ขณะที่การแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ ในวันที่ 22 ก.ย. 2559 น่าจะเป็นการตอบสนองของตลาดในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวยังคงต้องติดตามปฏิกิริยาของตลาดต่อไป เพราะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟด และของประเทศหลักอื่นๆ เช่น เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้ปรับกรอบการดำเนินมาตรการนโยบายการเงินที่จะเข้าดูแลระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวด้วย นอกเหนือไปจากการเข้าซื้อสินทรัพย์และการใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบ ดังนั้น ปัจจัยภายนอกยังเป็นสิ่งที่กระทบภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดโลก ทุกฝ่ายจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรองรับกับความผันผวนในอนาคต
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค.) กล่าวว่า การที่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.25-0.50 % เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และยังเป็นผลดีต่อตลาดด้วย เนื่องจากเงินทุนไม่มีการเคลื่อนย้ายไหลออกจากประเทศไปมาก ส่วนอัตราเงินแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนมากหรือน้อยแค่ไหน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว นอกจากนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังคงอยู่ในอัตราที่สูง จึงไม่น่ากังวลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย นอกจากนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวได้ดี ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น
ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% เป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเปราะบางและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในอนาคตยังเป็นสิ่งที่ท้าทายและเชื่อว่าปีนี้อาจจะไม่เห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนต่างชาติคาดว่าจะยังลงทุนอยู่ในตลาดทุนและตลาดพันธบัตรของไทยต่อไป เพราะตลาดหุ้นในภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดสหรัฐและยุโรป
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า แม้ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในคืนที่ผ่านมามีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ระดับ 0.25 – 0.50% แต่มี 3 เสียงไม่เห็นด้วยและมองว่าควรขึ้นดอกเบี้ยเลย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้น 0.25% ในอีกสามเดือน
ข้างหน้าและมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 0.50% ในปีหน้า นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลให้ต้นทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนมากขึ้นในช่วงท้ายปีและปีหน้าอย่างแน่นอน และสิ่งที่น่าจับตามองที่สุดคือ ธปท. จะรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ครั้งนี้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินไทยมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตที่ดีขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว และในทางทฤษฎีเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯปรับตัวขึ้นในขณะที่ดอกเบี้ยไทยยังคงทรงตัว ตราสารหนี้สกุลเงินบาทจึงลดความน่าสนใจลงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนขายตราสารหนี้ไปซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ เงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทอ่อน ทั้งนี้ พบว่าก่อนการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดโดยส่วนใหญ่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 1% ในขณะที่หลังการขึ้นดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นราว 0.05% และถ้าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นไปตามคาด เรามองว่า ธปท.จะยัง “คง” ดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นนี้ไว้ได้อย่างน้อยถึงกลางปีหน้าหรือจนกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายไทย