กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมการประชุม UN Responsible Business and Human Rights Forum,Asia and the Pacific ผ่านช่องทาง UN Webinar ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวนกว่า 1,000 คน UN Responsible Business and Human Rights Forum,Asia and the Pacific เป็นการประชุมว่าด้วยเรื่องของการต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์และการใช้แรงงานเด็กในเอเชียและแปซิฟิก
การประชุมครั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเกียรติเป็นตัวแทนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากประเทศไทย โดย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนฯ ในการอภิปราย เรื่อง บทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการดำเนินงานเกี่ยวกับคดีละเมิดทางเพศเด็กโดยใช้สื่อออนไลน์ ประเด็นด้าน online grooming โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการพัฒนากฎหมายในประเทศไทยเพื่อคุ้มครองเด็ก
จากการดำเนินงานในหัวข้อดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00-11.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยก่อนเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก หรือ ECPAT International ร่วมกับคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ,International Labour Organization (ILO),United Nations Development Programme (UNDP),International Organization for Migration (IOM),United Nations International Children’s Emergency Fund (UNICEF) และองค์กรชั้นนำอื่นๆ ได้จัดการอภิปราย ในหัวข้อ “Stepping up the fight against the worst forms of child labour in Asia- Pacific in the digital area” โดยมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายในครั้งนี้ ได้แก่ (1) Jennaline Serrano ผู้แทนจาก ECPAT Philippines (2) Rebecca Nhep ผู้แทนจาก Better Care Network-Australia (3) Damien Brosnan ผู้แทนจาก The Code (4) Bharti Pflug ผู้แทนจาก ILO และ (5) ร้อยตำรวจเอก เขมชาติฯ ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดย ร้อยตำรวจเอก เขมชาติฯ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการบูรณาการแก้ไขปัญหา อันเป็นบทบาทหนึ่งของกรมสอบสวนคดีพิเศษในเวทีอาชญากรรมระหว่างประเทศ
ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน