วันทึ่ 1 มิ.ย.64 : นางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ติดตามการปฏิบัติต่อภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุขตลอดเวลากว่า 10 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าให้ความสำคัญน้อยมาก โดยเฉพาะการพัฒนาวิจัยต่อยอดตำรับยาแผนไทยแล้วนำมาใช้รักษาโรคอุบัติใหม่ เช่น ไข้ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรง แทนการพึ่งพาแต่ยาเคมีตะวันตกที่ต้องใช้งบประมาณนำเข้าปีละจำนวนมาก แต่มองข้ามตำรับยาแผนไทยที่มีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง และผลิตได้เองในประเทศ ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 55 ก็ได้กำหนดให้นำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ก็ไม่เห็นมีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเลย นอกจากนี้ยังไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย
นางรฎาวัญฯ กล่าวว่า ผลจากการมองข้ามความสำคัญของตำรับยาแผนไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทำให้ไม่มีการพัฒนาวิจัยต่อยอดตำรับยาแผนไทยจากหลายคัมภีร์ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์แห่งชาติ แต่กลับวิจัยสารสกัดจากพืชสมุนไพรเชิงเดี่ยวคือฟ้าทะลายโจร และนำมาใช้ร่วมกับยาเคมีตะวันตกรักษาโรคไข้ไวรัสโควิด-19 ทั้งๆที่มีสรรพคุณต่ำกว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรชนิดบดผง เป็นการกระทำตามแนวคิดของการแพทย์ตะวันตก ซึ่งตรงกันข้ามกับการแพทย์แผนไทยอย่างสิ้นเชิง
องค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้จัดประชุมอภิปรายรับฟังความคิดเห็นของแพทย์แผนไทย,แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านกว่า 100 คนด้วย Video Conference Zoom Meeting เมื่อวันที่ 29 พ.ค.64 เวลา 19.00 น.-22.00 น.พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมเกิดความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวนี้ของกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานอาหารและยาหรือ (อ.ย.) เพราะต่างเข้าใจว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้ายแรงมาก และกลายพันธุ์ตลอดเวลา หากใช้สารสกัดชนิดเดียวจากฟ้าทะลายโจรไปรักษาอาจจะไม่ได้ผล 100% ก็อาจจะมาโทษฟ้าทะลายโจรว่าไม่มีประสิทธิภาพ เกรงว่าจะบั่นทอนชื่อเสียงที่ดีของฟ้าทะลายโจรเภสัชสมุนไพรที่สำคัญของไทย จึงขอให้ทบทวนเรื่องนี้ทันที และให้ตั้งคณะกรรมการร่วมแพทย์แผนตะวันตก และแพทย์แผนไทยที่มีสัดส่วนเท่าๆกันมาพิจารณาการนำตำรับยาแผนไทยมาใช้รักษาโรคไข้ไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจัง เพราะตำรับยาแผนไทยหลายตำรับก็อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วสามารถนำมาใช้รักษาได้ทันที
“แพทย์แผนตะวันตกจะทำอะไรกับเภสัชสมุนไพรไทยก็ควรให้เกียรติปรึกษาหารือกับแพทย์แผนไทยก่อนทุกครั้ง และการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ก็ควรมีสัดส่วนเท่าๆกันระหว่างแพทย์แผนตะวันตกกับแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่มีความรู้มีประสบการณ์สูงก็มีอยู่จำนวนมากกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากแพทย์แผนตะวันตก และแพทย์แผนไทยจับมือก้าวไปด้วยกัน จะช่วยให้ประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัยมีสุขภาพแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันโรคอุบัติใหม่ได้แน่นอน” นางรฎาวัญฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน