สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำนักวิจัย นักประดิษฐ์ จากหน่วยงานต่างๆ คว้ารางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15–17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ ด.ช.นิธิยุทธ วงศ์พุทธา แห่งโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลเกวลี คว้ารางวัลเหรียญทองมาครอง
ด.ช.นิธิยุทธ วงศ์พุทธา เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า “เริ่มจากการสังเกตรอบๆ ตัว พบว่าผู้สูงอายุหลายท่านกำลังประสบปัญหาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง การเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้สูงอายุต้องมีลูกหลาน หรือคนใกล้ชิดคอยดูแลตลอดเวลา แต่ถ้าหากผู้สูงอายุไม่มีผู้ดูแลก็จะมีความลำบากในการใช้ชีวิต จึงประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม “เก้าอี้ช่วยยืน” ขึ้น เพื่อช่วยผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ วิธีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม “เก้าอี้ช่วยยืน” ได้ออกแบบเก้าอี้ช่วยยืนให้แยกเบาะนั่งส่วนกลาง ออกจากด้านขอบเบาะ ส่วนตรงกลางเบาะจะถูกยึดติดกับมอเตอร์แกนชักที่ทำการติดตั้งไว้ด้านล่างเก้าอี้ ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ สามารถเสียบชาร์จได้ รวมถึงการติดตั้งด้ามจับ 2 ข้าง อุปกรณ์ที่ใช้ประดิษฐ์หาได้ภายในประเทศ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไม่สูง และสามารถควบคุมการผลิตได้
การใช้งานนวัตกรรมดังกล่าว ผู้สูงอายุต้องเปิดสวิทช์ ที่บริเวณส่วนบนของขาเก้าอี้ จากนั้นมอเตอร์แกนชัก จะค่อยๆ ดันตัวผู้สูงอายุยืนขึ้นโดยผู้ใช้งานใช้มือจับยึดด้ามจับทั้ง 2 ข้าง พยุงตัว ขึ้นยืน และ พยุงตัวนั่งลงได้”
ผลจากการนำไปใช้ประโยชน์จริง ปรากฏว่าผู้สูงอายุสามารถค่อยๆ ยืนขึ้นได้จากเก้าอี้ช่วยยืน ด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ใช้ในการฝึกฟื้นฟูไปด้วย ซึ่งถ้าผู้ใช้งานยืนไม่ไหว ก็จะมีเบาะส่วนกลางนี้รองรับอยู่ตลอดเวลา ในอนาคตจะมีการต่อยอด โดยการติดตั้งปุ่มสั่งงานที่ด้ามมือจับทั้ง 2 ข้าง ปุ่มที่มือจับด้านซ้ายจะใช้ในการสั่งการให้เบาะดันขึ้น ส่วนปุ่มที่มือจับด้านขวาจะใช้สั่งการให้เบาะค่อย ๆ พยุงตัวลงนั่ง สะดวกในการใช้งานและการดูแลตัวเอง
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ได้ส่งเสริมโดยสนับสนุนนักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ในการนำผลงานที่มีคุณภาพ มีศักยภาพด้านการวิจัย และด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการ และประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นั้น ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทย ที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานให้ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาด และก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน