กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ได้สอบสวนขยายผลบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการพิสูจน์การได้มาของทรัพย์สิน (ที่ดิน) โดยการเชื่อมโยงเส้นทางทางการเงินกับทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเครือข่ายอดีตผู้บริหาร สหกรณ์สโมสรรถไฟ ที่ได้นำเงินจากการทุจริตออกจากบัญชีสหกรณ์สโมสรรถไฟ และนำเงินที่ได้จากการทุจริตไปเปลี่ยนสภาพแห่งตัวทรัพย์ เพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา หรือได้มา ครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินโดยรู้ในขณะที่ได้มา อันเป็นเหตุในการเข้าทำการตรวจยึด/อายัดทรัพย์สินข้างต้น
โดยในวันนี้ วันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรองอธิบดีที่กำกับดูแล,พันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ,นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา,นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา และนายพงษ์ธวัช อ่วมสำอางค์ ผู้อำนวยการส่วนคดีการฟอกเงินทางอาญา 3 พร้อมคณะ ตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี (สาขาท่ายาง) และนายประกอบ เผ่าพงศ์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ร่วมกันอายัดที่ดิน
พร้อมสิ่งปลูกสร้างหลายพื้นที่
ประกอบด้วย ที่ดินเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 แปลง,อาคารชุดฮอลส์มาร์ค แจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จำนวน 7 ห้อง,ที่ดินโครงการพฤกษ์พิมาน 3 ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 23 แปลง และ พื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 49 แปลง รวมทรัพย์สินที่ทำการอายัด 85 แปลง มูลค่าประมาณ 85,601,690 บาท โดยในการอายัดครั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของกลุ่มบุคคล จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่านำเงินที่ได้จากสหกรณ์ฯไปซื้อที่ดิน ตามที่ได้อายัดไว้ข้างต้น
การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มุ่งเน้นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสามารถนำเงินชดใช้คืนสหกรณ์สโมสรรถไฟ และสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อเยียวยาให้กับผู้เสียหาย
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการในทุกมิติ โดยร่วมกับสำนักงาน ปปง. เพื่อทำการการยึด/อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
เพื่อขอให้พนักงานอัยการมีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืน หรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 6,000 ราย และสหกรณ์พันธมิตรอีก 15 แห่ง โดยจะดำเนินการเชิงบูรณาการร่วมกับ สำนักงาน ปปง. ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ส่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 อย่างเด็ดขาด ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน