นางเยาวภา โตสงวน วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์นำชาวบ้านสรงน้ำพระพุทธรูปและนำขบวนแห่แกะดอกไม้ไปยังลานวัดน้ำเลา ต.บ้านโคก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์เพื่อร่วมในพิธีเปิดงานประเพณี ญัฮกุร โด้งน้ำเลา ตะผ๊ากตำตรุษ(ยะ-กุรหรือชาวบน กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง เป็นชุมชนที่ใช้ภาษามอญโบราณ อยู่บนภูเขาแถบแม่น้ำป่าสักในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา และชัยภูมิ) ฟันตรุษ ส่งผีกลับบ้าน ก่อนวันสงกรานต์ มีนายเสรี หอมเกสร ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดงาน มี หัวหน้าส่วนราชการและชาวบ้านตำบลบ้านโคกร่วมงาน
ว่าที่ร้อยโทณัฐพงศ์ พรพฤฒิพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโคกกล่าวรายงานวัว่าการจัดงานประเพณีฟันตรุษ ปีนี้ กำหนัดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๙-๑๕ เมษายน ๒๕๖๔ โดยที่ชาวบ้านน้ำเลามีความเชื่อว่าในเทศกาลสงกรานต์ การจัดพิธีฟันตรุษ (ต้นตรุษหรือต้นปุดช้าง ต้นไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายต้นข่า พบได้ในป่าลึกเหนือหมู่บ้าน)จะเป็นการตัดสิ่งชั่วร้ายออกจากปีเก่าและต้อนรับสิ่งใหม่ในปีต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเพื่อความเป็นศิริมงคล เป็นประเพณีที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น แสดงออกถึงความร่วมมือของชาวบ้านในการช่วยกันจัดเตรียมงาน สอนให้คนรุ่นหลังรู้จักบาปบุญคุณโทษ รักสามัคคี มีความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการสืบสานงานบุญตามความเชื่อที่แฝงไว้ด้วยความรู้และความสนุกสนาน
สำหรับการฟันตรุษนั้น ชาวบ้านจะนำต้นตรุษ หรือปุดช้าง นำมามัดติดกับไม้ที่ตั้งเป็นคู่ กลางลานวัดน้ำเลา ลักษณะเหมือนกำแพง ข้างๆจะก่อกองทราย ๑ กอง ประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปประดับ ในช่วงเย็นทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน และแห่ดอกไม้ที่จัดไว้อย่างสวยงามไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน สิ้นสุดที่วัดน้ำเลา และแห่รอบต้นตรุษ ๓ รอบ ปักธูปเทียนบนกองทราย พร้อมถวายดอกไม้ จากนั้นจะมีชายแต่งกายด้วยชุดโจงกระเบน ออกมารำดาบรอบต้นตรุษ คล้ายกับเพชฌฆาต ก่อนจะลงมือฟันต้นตรุษ ซึ่งเหมือนเป็นการตัดสิ่งชั่วร้ายออกจากปีเก่าต้อนรับสิ่งใหม่ในปีต่อไป จากนั้นจึงเป็นการรำถวายดอกไม้ กิจกรรมการตีกินขนม และการส่งผี เป็นพิธีคล้ายกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งให้ผีกิน โดยจะมีเด็กและหนุ่มสาวแต่งกายเป็นผีชนิดต่างๆ รวมตัวกันเหนือหมู่บ้านจัดเป็นขบวนผี โห่ร้องผ่านหมู่บ้าน และทำท่าเหมือนมาขอส่วนบุญ ขณะที่ชาวบ้านก็จะจัดกระทงขนมไว้ให้กับขบวนผี พร้อมกับจุดไฟจุดประทัดและยิงปืน เพื่อขับไล่ผีออกจากหมู่บ้าน ไม่ให้กลับมารบกวน ให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขตลอดทั้งปี
มนสิชา คล้ายแก้ว