วันที่ 8 เม.ย.64 เวลา 13.30 น. ที่ บก.ปคบ. : พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วยพ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ.แถลงข่าวผลการตรวจยึดชุดสังฆทาน ชุดผ้าไตรจีวร ไม่ได้มาตรฐาน (ย้อมผ้าไตรจีวรเก่ามาทำใหม่หลอกขายผู้บริโภค) พร้อมของกลางจำนวนหลายรายการ
ตามที่ปรากฎตามสื่อสังคมออนไลน์ จากกรณีที่พระคุณเจ้าวัดแห่งหนึ่ง ได้ถ่ายคลิปพิสูจน์ผ้าไตรจีวรที่ญาติโยมซื้อมาถวาย พบมีการปลอมย้อมแมวขาย โดยนำผ้าไตรจีวรใหม่ห่อยัดไส้ในด้วยผ้าจีวรเก่าที่ใช้แล้วมีสภาพคราบดำใช้งานมานาน สีไม่เหมือนกัน ขนาดผ้าก็ไม่สามารถใช้ได้ อีกทั้งยังมีรอยขาด และมีรูนำไปใช้ไม่ได้ต้องอาบัติ และผ้าแต่ละผืนมีสภาพเก่าสีต่างกัน และกล่องหรือถุงสังฆทานที่มีโยมนำมาถวายพระ ซึ่งพบว่า
ในบรรจุภัณฑ์ เต็มไปด้วยของที่ไม่มีคุณภาพ และราคาแพงเกินความเป็นจริง ไม่สามารถนำสิ่งของไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ต่อมา บก.ปคบ. ได้ร่วมบูรณาการกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ภายใต้การอำนวยการของ นายธสรณ์อัฑฆ์ ธนิทธิพันธ์ เลขา (สคบ.) ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข รอง ผกก.1 บก.ปคบ.,พ.ต.ต.อนันต์ บัวแก้ว สว.กก.1 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนทำการสืบสวนตรวจสอบร้านจำหน่าย ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม ที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอันเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2550) เรื่องชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม ซึ่งเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาล รวม 3 จุด ประกอบด้วย
1.ร้านสรรเสริญ สังฆภัณฑ์ เลขที่ 175 ถนนสามชัย ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบ น.ส.สิริกาญจน์ สงวนนามสกุล อายุ 58 ปี เป็นเจ้าของร้านดังกล่าว ขณะเข้าตรวจค้นพบ
ชุดผ้าไตรจีวร ผ้าแต่ละผืนมีสภาพเก่าสีต่างกัน กล่องหรือถุงสังฆทานเต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่มีคุณภาพ
2.บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 35/32 หมู่ที่ 12 หมู่บ้านเจริญทรัพย์ ตำบลบึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จังหวัดปทุมานี พบ น.ส.สาคร สงวนนามสกุล อายุ 52 ปี เป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว ตรวจค้นพบชุดผ้าไตร,จีวร และสบง ผ้าแต่ละผืนมีสภาพเก่าสีต่างกัน กล่องหรือถุงสังฆทานเต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่มีคุณภาพ
3.บริเวณบ้านเลขที่ 35/42 หมู่ที่ 12 หมู่บ้านเจริญทรัพย์ ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมานี พบ น.ส.สุนัน สงวนนามสกุล อายุ 44 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของบ้านขณะตรวจคันพบชุดผ้าไตรจีวร และผ้าอังสะ ผ้าแต่ละผืนมีสภาพเก่าสีต่างกัน กล่องหรือถุงสังฆทานเต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่มีคุณภาพจึงได้ทำการตรวจยึดของกลาง จำนวนหลายรายการ ประกอบด้วย ผ้าจีวร 90 ผืน,ผ้าไตร 90 ชุด,สบง 90 ชุด,ผ้าอังสะ 10 ผืน,ที่รัดอก 20 ผืน,ชุดถังสังฆทาน 30 ชุด,ชุดกล่องยา 25 ชุด,ไม้ที่ใช้สำหรับพับผ้าไตร 3 ชิ้น,เตารีดไฟฟ้า 3 เครื่องและเครื่องเป่าทำความร้อน (สำหรับเป่าพลาสติกชุดสังฆทาน 1 เครื่อง
ซึ่งจากการตรวจค้นทั้ง 3 จุดนั้น ผู้ถูกจับได้ให้การรับสารภาพว่าได้รับซื้อชุดสังฆทาน ชุดกล่องยา
ชุดผ้าไตรจีวร อื่นๆ มาจากวัดต่างๆ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ในวัด พระ ลูกศิษย์ของวัด ติดต่อมา หรือบางครั้งก็จะให้ลูกจ้างของตัวเองไปติดต่อซื้อตามวัดต่างๆจากนั้นก็นำมาบรรจุเป็นสินค้าใหม่ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและจำหน่ายให้กับร้านค้าสังฆภัณฑ์ทั่วไปและร้านค้าขายส่ง ในราคาถูกกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้จากการสอบสวนเบื้องต้น เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 “ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดใน
แหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 30,31 “ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามมาตรา 52 ประกอบประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าควบคุมฉลาก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการประทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าประเภทชุดสังฆทาน และชุดไทยธรรมเพื่อที่จะนำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธศาสนา
จึงขอประชาสัมพันธ์ ให้ตรวจสอบร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ ว่ามีการรับประกันสินค้าหรือไม่ ตรวจสอบตัวสินค้าว่าไม่โฆษณาเกินความจริง มี (อย.),.(มอก.) และราคาไม่แพงหรือถูกจนเกินไป และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับสินค้าที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ทางสายด่วน 1135 ศูนย์รับเรื่องรวมร้องทุกข์ บก.ปคบ.,เพจเฟซบุ๊ก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ
การคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.),เว็บไซต์ www.cppd.go.th และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สคบ.สายด่วน 1166
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน