เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 : นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ ได้ โพสต์ Facebook ส่วนตัว “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ว่า ผมและนายพยม พรหมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา ในฐานะคณะทำงานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ ได้หารือกันถึง ประเด็นที่ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากญาติผู้ต้องขังในเรือนจำถึงสิทธิการเลือกตั้งของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพราะขณะนี้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องหาอำนาจของตนเอง โดยอ้างสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้ต้องขัง” ซึ่งอาจจะพลาดพลั้งกระทำผิดไปบ้าง คนกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 300,000-400,000 คน ทั้งผู้ต้องขังเด็ดขาด ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา รวมไปถึงนักโทษทางการเมืองรวมอยู่ด้วย
ทุกวันนี้ มีแต่คนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ทำไมไม่มีใครคำนึงถึงผู้ต้องขังในเรือนจำซึ่งไม่มีโอกาสเลือกตั้งเลย นี่คือคำถามจากผู้ต้องขัง ประเด็นนี้ ทำให้เกิดข้อคำถามว่า ทำไมนักโทษจึงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ในเรื่องนี้ เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ
ฉบับแรก คือ รัฐธรรมนูญปี พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 96 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยในมาตรา 96 (3) คือผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์รองลงมา หรือที่เรียกว่า กฎหมายลูกก็คือพ.ร.บ.การเลือก สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 39 บัญญัติไว้ว่าบุคคลที่มีลักษณะต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของสารหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน มาตรา 96 (3 ) ให้ผู้ต้องขังมีสิทธิเลือกตั้งได้ ก็จะต้องแก้กฎหมายรอง หรือ กฎหมายลูกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ “ในเมื่อทุกคนพูดว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นอำนาจของประชาชน ในเมื่อผู้ต้องขัง หรือนักโทษก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิในการกำหนดนโยบาย กำหนดกลไกของประเทศได้เช่นเดียวกัน และในเมื่อมีการถกเถียงกันในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญก็ควรจะมองผลประโยชน์ของประชาชน และผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่มองเพียงเรื่องที่มาของอำนาจหรือมีการแก้กฎหมายเพื่อให้ใครมีอำนาจมากขึ้น
ซึ่งเรื่องนี้ตน พิจารณาแล้วว่า จะต้องตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ว่า ในต่างประเทศนั้นมีกลไกให้นักโทษ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน โดยผมก็จะรับไปหารือ กับผู้มีอำนาจ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ตลอดจนกลไกของคณะกรรมการในการพิจารณาต่อไป เพราะเป็นความต้องการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการให้ศูนย์ร้องทุกข์ของพรรคพลังประชารัฐนั้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติอยู่แล้ว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน