แนวความคิดในการจัดตั้งกองทัพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรป หรือ “อียู อาร์มี” ส่อเค้าถูกคัดค้านหนักจากบรรดารัฐขนาดเล็กที่เป็นสมาชิกอียู ที่มีความกังวลว่าแนวคิดนี้อาจถูกนำไปใช้เพียงเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของเยอรมนีและฝรั่งเศสเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมของรัฐสภาเยอรมนีในวันอังคาร (20 ก.ย.)
รายงานข่าวระบุว่า ในระหว่างการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (EU summit) เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ณ กรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของสโลวาเกีย ปรากฏว่า ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ได้ออกโรงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองกำลังร่วมในหมู่ประเทศสมาชิกของอียูเพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านความมั่นคงและกลาโหมแบบเชิงรุก ที่ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างเห็นพ้องสนับสนุน
อย่างไรก็ดี อเล็กซานเดอร์ นอย สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมของรัฐสภาเยอรมนีออกมาระบุในวันอังคาร (20) ว่า แนวความคิดดังกล่าวซึ่งเป็นการตอบสนองต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของเฉพาะประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสเท่านั้น จะต้องเผชิญกับแรงต่อต้านสำคัญโดยเฉพาะจากบรรดารัฐสมาชิกขนาดเล็กภายในอียู
“ความจำเป็นในการจัดตั้งกองทัพร่วมกัน การตั้งกองบัญชาการใหญ่ร่วมกัน และการจัดทำงบประมาณทางทหาร ตลอดจนใช้ระบบสอดแนมร่วมกันของอียู ยังคงถูกตั้งคำถามจากชาติสมาชิกอียู ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการจัดตั้งอียู อาร์มีขึ้นมาอีก ในเมื่อเวลานี้ยุโรปก็มีกำลังทหารขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อยู่แล้ว” นอยกล่าว
ก่อนหน้านี้มีผลสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัย “YouGov” และสถาบันวิจัยแห่งมูลนิธิฟรีดริช เอเบิร์ต (FES) ที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 14 ก.ย. ระบุ 54 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างชาวเยอรมันสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทัพของสหภาพยุโรป (EU army) ที่รวมกำลังทหารของชาติสมาชิกทั้งหมดเข้าเป็นกองทัพเดียวกัน ส่วนอีก 35 เปอร์เซ็นต์คัดค้านแนวคิดนี้
ผลสำรวจดังกล่าวถูกระบุว่าเป็น “เรื่องน่าประหลาดใจ” ไม่น้อยในมุมมองของมิชาเอล โบรเอนิง หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านการเมืองของสถาบัน FES เนื่องจากที่ผ่านมาผู้คนในสหภาพยุโรปมักมองนโยบายด้านกลาโหมและการป้องกันประเทศว่าเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยสำคัญยิ่งของแต่ละประเทศที่แม้แต่อียูก็ไม่อาจก้าวล่วง
ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดในการจัดตั้งกองทัพของชาติในยุโรปเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 และแนวคิดนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นพูดถึงใหม่อีกรอบเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยฌ็อง-โคลด ยุงค์เกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนปัจจุบัน ที่ระบุว่าสหภาพยุโรป (อียู) จำเป็นต้องมีกองทัพที่เป็นเอกภาพเป็นของตัวเองเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่อประเทศสมาชิกร่วมกัน
ทั้งนี้ บรรดาผู้นำทางการเมืองในยุโรป นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ และอดีตประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส ต่างเคยออกโรงเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง EU army ขึ้นอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ต่อยุโรป โดยเฉพาะภัยคุกคามจากการก่อการร้าย