ความคืบหน้าเหตุการณ์เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวของ บริษัท สมบัติมงคลชัย จำกัด หมายเลขทะเบียน 106600841 ที่นำประชาชนกว่า 100 ชีวิต เดินทางจากตลาดขวัญ จ.นนทบุรี มุ่งหน้า มัสยิดตะเกี่ย ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมงานประจำปีชาวมุสลิมของ อ.พระนครศรีอยุธยา แต่มาประสบเหตุล่มที่หน้าวัดสนามไชย ม.10 ต.บ้านป้อมอ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 กันยายน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น
สลด!พบศพลอยน้ำ5รายรวด
โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 20 กันยายนว่า หลังจากทีมกู้ภัยได้ยุติการค้นหาประจำวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าในช่วงกลางดึกมีร่างผู้เสียชีวิตลอยขึ้นมาเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากจุดที่เรือล่มออกไป 5 ก.ม. อีก 5 ศพ ได้แก่ น.ส.วชิรา บุญญิกา 19 ปี พบในเวลา 21.30 น. บริเวณเลยวัดตะเกี่ย นางอนันดา บุญรักษ์ 39 ปี พบในเวลา 03.50 น. ที่สะพาน 356 ด.ญ.อามี่รา กระจ่างแสง อายุ 3 ปี พบเมื่อ 04.55 น. ที่สะพาน356 ด.ช.ธิเบต มาทอง อายุ 4 ปี พบเวลา 05.12 น. ที่สะพาน356 และ น.ส.มนัญญา รัตนะวัน 25 ปี เมื่อเวลา 06.19 น. ที่สะพานสร้างใหม่ใกล้หมู่บ้านญี่ปุ่น ทำให้จำนวนศพผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 26 ราย
พบศพเด็ก3ขวบเป็นรายที่27
ขณะที่เมื่อเวลา 09.30 น. นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำทีมงานกู้ภัยจากมูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิพุทไธสวรรย์ กู้ภัยอยุธยา เข้าวางแผนเพื่อเริ่มปฏิบัติการวันที่ 3 โดยแบ่งการค้นหาออกเป็นสองฝั่งแม่น้ำ แล่นเรือวิ่งล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จากเขต อ.พระนครศรีอยุธยาเข้าพื้นที่ อ.บางปะอิน จนถึงเขตอ.บางไทร รวมระยะทางกว่า 30 กม. โดยกระแสน้ำยังไหลแรง ระดับน้ำขึ้นสูงจนเกือบมิดหลังคาเรือลำที่ล่ม ส่วนบรรยากาศบริเวณที่เรือล่ม ยังคงมีบรรดาญาติผู้เสียชีวิตและเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำอาหารคาวหวานมาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเรียกดวงวิญญาณและขอให้ค้นหาร่างผู้สูญหายให้พบโดยเร็ว และต่อมา ได้มีการพบศพผู้เสียชีวิตรายที่ 27 ราย คือ ด.ช.อภิรักษ์ บุญรักษ์ อายุ 3 ปี ลอยอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าโบสถ์โยเซฟ ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา
กรมเจ้าท่าใช้เครนยกกู้ซากเรือ
ต่อมา เวลา 14.30 น. กรมเจ้าท่าได้นำเรือโป๊ะที่ติดตั้งเครน 2 ลำ ของ ส.แดงการช่าง ของ นายสมศักดิ์ ศักดิ์อุดมพงษ์ จาก กทม. ได้เข้ามาจอดเทียบเรือที่จมลงบริเวณหน้าวัดสนามไชย โดยมีการจอดเรือโป๊ะที่หัวเรือ 1 ลำ และท้ายเรืออีก 1 ลำ และพยายามใช้เครนขนาดใหญ่ เพื่อยกเรือที่จมขึ้นมา แต่ดำเนินการลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลแรง และฝนตกที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยแนวทางแรกได้มีการนำเชือกร้อยสอดด้านล่างลำเรือที่จม เพื่อใช้ยกเรือ แต่พบว่าเชือกน่าจะไม่สามารถรับน้ำหนักเรือได้ จึงเปลี่ยนเป็นใช้สายเคเบิลทำจากไนล่อนอย่างดี ที่มีความแข็งแรงมากกว่าเชือก สอดใต้ท้องเรืออีกหลายจุด เพื่อใช้รองรับน้ำหนักเรือ และให้เครนยกเรือขึ้นจากแม่น้ำ
ลากไปเก็บใกล้“วัดพนัญเชิง”
กระทั่ง เวลา 16.30 น. ได้มีการใช้เครนยกตัวเรือที่จมอยู่ให้ลอยขึ้นเพื่อค้นหาผู้สูญหายและทรัพย์สินที่ยังติดค้างอยู่ในเรือได้สำเร็จ จากนั้นได้ลากเรือไปยังบริเวณหน้าหมู่บ้านโปรตุเกส เพื่อไปซ่อมแซมท้องเรือที่มีรอยแตกขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 7 เมตร โดยการใช้แผ่นยางหรือแผ่นเหล็ก อุดรอยรั่วใต้ท้องเรือ จากนั้นทำการสูบน้ำออก และลากไปเก็บไว้ที่คานเรือศรีเจริญติดกับวัดพนัญเชิงวรวิหาร ต.กระมัง อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตลอดระหว่างการกู้เรือของเจ้าหน้าที่ได้มีประชาชนที่มากางร่มมุงดูท่ามกลางสายฝนที่ตกมาตลอดจำนวนมาก
พบหญิงชราศพที่28-ยังหายอีก1
ล่าสุดสามารถกู้ซากเรือล่มได้สำเร็จ ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่พบผู้สูญหายเพิ่มอีก 1 ราย คือ นางทองใบ ขันธรักษ์ 89 ปี รวมผู้เสียชีวิตล่าสุด เป็น 28 ราย ยังคงเหลืออีก 1 ราย คือ ด.ช.อภินัน แสงขำ อายุ 2 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บที่ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา 9 ราย
นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเรือ เปิดเผยว่า สำหรับค่าใช้จ่าย ในการกู้เรือในครั้งนี้ ทางกรมเจ้าท่าจะเป็นฝ่ายสำรองจ่ายไปก่อนจำนวนเงิน 3 แสนบาท แล้วหลังจากนั้นจะไปเรียกเก็บกับผู้ประกอบการเรือที่ล่มตามกฎหมายต่อไป
คนขับรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา
ทางด้านคดี พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ควบคุมเรือ คือ นายวิรัช ชัยศิริกุล อายุ 67 ปี 4ข้อหา ได้แก่ 1.กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ 3.ควบคุมเรือขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ 4.ควบคุมเรือโดยบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากำหนด ซึ่งผู้ต้องหาได้รับสารภาพทุกข้อกล่าวหาและพนักงานสอบสวนได้ทำการฝากขังผลัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน โดยศาลไม่ให้ประกันตัว
คมนาคมสั่งหาข้อเท็จจริงใน10วัน
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการแก้ปัญหาโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการกำกับควบคุมดูแล และบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่การจดทะเบียนเรือ การตรวจสอบเรือ การออกใบอนุญาตควบคุมเรือ ท่าเรือ การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตในเรือ การลาดตระเวนตั้งแต่ต้นทางจนถึงจุดที่เกิดอุบัติเหตุ และรายงานให้ทราบภายใน 10 วัน
จี้ตรวจสอบ“โป๊ะ”จอดเรือทั่วปท.
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยท่าเรือทั้งแบบสาธารณะและเอกชนในประเทศทั้งหมดว่า มีโครงสร้างพื้นฐานรุกล้ำลำน้ำและเป็นภัยต่อการเดินเรือหรือไม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รวมถึงให้ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเรือโดยสาร และการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย โดยให้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
ติดตั้งเครื่องติดตาม-แอพฯเข้าออก
ส่วนระยะที่ 2 ในการดำเนินการมาตรการกับควบคุมระยะต่อไปได้ให้กรมเจ้าท่าออกประกาศให้เรือโดยสารที่มีขนาดรับผู้โดยสารตั้งแต่ 25 คนขึ้นไปต้องติดตั้งเครื่องติดตามเรือ (Automatic Identification System AIS) และต้องมีการจัดทำระบบแอพพลิเคชั่นการแจ้งเรือเข้า-ออกจากท่าที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกขั้นตอนต้องดำเนินการภายในปี 2560 ซึ่งจะทำให้เรือทุกลำที่ออกให้บริการต้องขออนุญาตทำการเดินเรือ และหากจะออกนอกเส้นทางก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน รวมถึงให้ผู้ประกอบการเข้ามาอบรมเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้งต่อปีเป็น 4 ครั้งต่อปี และให้ดูแลผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดในช่วงเทศกาลและช่วงเวลาเดินทางเร่งด่วนเป็นพิเศษ
เล็งเพิ่มโทษเรือไม่พร้อมใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ผู้ควบคุมเรือทุกลำจำเป็นต้องใบประกาศควบคุมเรือติดตัวไว้ทุกครั้ง และทางกรมเจ้าท่าต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่มาประจำท่าเรือหลักทุกจังหวัด รวมถึงทางกรมเจ้าท่าได้มีการปรับปรุงโป๊ะเรือ 19 แห่งตามแนวเส้นทางดังกล่าวให้เป็นสถานีเรือต่อไป นอกจากนี้ต้องตรวจสอบสภาพเรือโดยสารให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ที่จะต้องมีการแก้ไขบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น จากในปัจจุบันโทษสูงสุดมีเพียงการปรับไม่เกิน 10,000 บาทและจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
คสช.สั่งดูแลปชช.ไปเกาะเสม็ด
ด้าน พ.อ.(พิเศษ) ภพอนันฒ์ เหลืองภาณุวัฒน์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่14ได้สั่งการมายัง น.ท.พูนศักดิ์ บัวเนียม ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 6 กองร้อยรักษาความสงบกองทัพเรือที่ 2 ให้ดูแลการเดินทางของประชาชนที่จะข้ามไปเกาะเสม็ด ตรวจทะเบียนเรือ จำนวนผู้โดยสาร และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพแก่ผู้ควบคุมเรือโดยสาร และเรือเร็วข้ามเกาะเสม็ด บริเวณท่าเรือ ในบริเวณ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่ง น.ท.พูนศักดิ์ ก็ได้สั่งการต่อให้ร.อ.พีรพงษ์ ทองใบ นายทหารยุทธการ ชปท.ทร.ที่ 6 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจความเรียบร้อยของเรือที่จะข้ามไปเกาะเสม็ด ซึ่งปรากฎว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
พบเรือข้ามฟากชัยนาทหละหลวม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเรือข้ามฟากที่เปิดให้บริการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากฝั่งตลาดภาษีซุง ในตัวเมืองชัยนาท ไปยังฝั่ง ต.ท่าชัย อ.เมืองชัยนาท ซึ่งมีเรือเปิดให้บริการจำนวน 4 ลำ พบว่าทั้งหมดไม่มีชูชีพครบตามจำนวนผู้โดยสารตามกฏหมาย พ.ร.บ.ขนส่งทางน้ำ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ตามการจดทะเบียนขออนุญาตเดินเรือที่ระบุว่าบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน18คน แต่ในช่วงเร่งด่วนจะรับผู้โดยสารมากกว่า 20 คนรวมทั้งจักรยานยนต์กว่า 10 คัน