ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สตม. มีผู้ต้องกักติดเชื้อโควิด19 จำนวน 393 ราย และ มี จนท.ตร. ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ต้องกัก ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 นาย ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรายดังกล่าว พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 เวลา 14.00 น. พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม. ได้เดินทางไปเยี่ยม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการตำรวจที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9 โรงพยาบาลตำรวจ ได้สอบถามอาการป่วย ปรากฎว่าไม่รุนแรง และ อยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์ ซึ่งการตรวจเยี่ยมดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เป็นไปตามมาตรการของสาธารณสุข
พร้อมกันนี้ได้มอบกระเช้าของขวัญและเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาอีกด้วย
จากนั้น พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงความคืบหน้าแผนการ ที่เกี่ยวกับการรับมือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และมีมาตราการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในห้องกักบางเขนและสวนพลูของ สตม.และการจัดตั้ง รพ.สนามชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ต้องกักที่ตรวจพบเชื้อ เบื้องต้น ผู้ต้องกักต่างชาติมีจำนวน 1,615 คน อยู่ที่สถานกักตม.บางเขน 490 คน และตม.สวนพลู 1,125 คน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในความดูแล 393 ราย เป็นชาย 370 หญิง 23 ราย ในจำนวนนี้มีตำรวจปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ต้องกักติดโควิด-19 จำนวน 1 นาย ได้ส่งไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจแล้ว และสตม.ร่วมกับ รพ.ตำรวจ,กระทรวงสาธารณสุข,กรมควบคุม และกทม.จัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวขึ้นอีกแห่ง โดยใช้อาคารโรงยิมกองสวัสดิการ สนามบุญยะจินดา สโมสรตำรวจ
พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 ที่ผ่านมา จะทำการย้ายผู้ต้องกักบางเขนที่ติดเชื้อจำนวน 393 ราย ไปรักษาตัวที่ รพ.สนามชั่วคราว นั้น รายละเอียดขั้นตอนในการย้ายจะมีการประชุมสรุปร่วมกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าเป็นไปตามมาตรฐานการดูแลรักษาและขอให้ประชาชนในพื้นที่รวมทั้งข้าราชการตำรวจหน่วยงานข้างเคียง มั่นใจในมาตรการควบคุมโรค เนื่องจากการตั้งสนามได้นำโมเดล ทั้งที่ ตม.สงขลา และ รพ.สนามที่สมุทรสาคร มาเป็นแนวปฎิบัติ ทีมแพทย์และบุคคลากรที่มาดูแลมีประสบการณ์และที่ผ่านมาชุมชนใกล้ รพ.สนามไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานภายในได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว และจะฉีดเข็มที่สอง ในวันที่ 9 เมษายน 2564 นี้และในการปฎิบัติอุปกรณ์ถุงมือสวมชุด PPE ตลอด โดยมีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อดูแลการเข้าออกพื้นที่ด้วย
ทางด้าน นพ.โสภณฯ กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายผู้ต้องกักจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่,ผู้ติดเชื้อมาระยะหนึ่ง และกลุ่มผู้เคยติดเชื้อ ยืนยันว่าจำนวนเตียงผู้ป่วยในรพ.สนามใหม่เพียงพอรองรับ เพราะจะมีการคัดกรองผู้ป่วยแล้ว สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ไม่แสดงอาการ ไม่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตตามที่มีกระแสข่าว แต่หากมีอาการรุนแรงก็พร้อมส่งไปรักษารพ.ข้างนอกที่มีความพร้อม คาดว่าสถานการณ์การติดเชื้อในผู้ต้องกักกลุ่มนี้ จะคลี่คลายภายในระยะเวลา 2 ถึง 4 สัปดาห์ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
ทั้งนี้ สตม.มีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอส่งกลับ เช่น งดรับผู้ต้องกักใหม่จนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ รวมทั้งลดจำนวนผู้ต้องกักในการดูแล และให้ ตม.ทั่วประเทศ ทำการคัดแยกผู้ต้องกักกลุ่มแยก และประสานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เพื่อจัดแผนรองรับและเตรียมจัดหาพื้นที่เพื่อสร้าง รพ.สนามเพิ่มอีก หากเกิดกรณีผู้ต้องกักติดเชื้อเพิ่ม ส่วนกรณีจำเป็นผู้ต้องกักรายใหม่ ต้องมีห้องแยกอย่างชัดเจนกับผูัต้องกักรายอื่น และกำชับให้ผู้บังคับบัญชา ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฎิบัติหน้าที่ไม่ให้มีการติดเชื้อ นอกจากนี้สั่งกำชับการดูแลอุปกรณ์เกี่ยวกับการแพทย์ ไม่ให้บกพร่อง รวมทั้งจัดที่พักแพทย์และพยาบาลที่จะไปดูแลผู้ป่วยไว้แล้ว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน