ที่วัดศรีจันดาธรรม หมู่ 12 ตำบลปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นายชาครินทร์ อินอิ่มวรปราชญ์ นายอำเภอหล่มสักเป็นประธาน การประชาคม ชาวบ้าน เพื่อหาข้อยุติ ในกรณี นายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์ ผู้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก ว่านายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ)พร้อมคณะกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน มีพฤติกรรมฉ้อฉล ไม่เคยจัดการประชุมสมาชิกในแต่ละปี ให้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของกลุ่มรวมฌาปนกิจหมู่บ้านทั้งไม่ชี้แจงรายละเอียดการเงินกับสมาชิก ทางผู้ร้องจึงได้จัดประชุมสมาชิกกลุ่ม และกรรมการกลุ่มฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธีร่วมกัน โดยมีสักขีพยานได้แก่นายอำเภอหล่มสัก นายปรัชญา ปิยะวงษ์ ปลัดอำเภอหล่มสัก ผู้กำกับการ สภ.บ้านกลาง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก นายไกร แรงงาน กำนัน ต.ปากช่อง ผู้ใหญ่บ้านในตำบลปากช่อง ผู้สังเกตการณ์จากหลายหน่วยงาน ฯลฯ และสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มฯจาก 7 หมู่บ้านใน ตำบลปากช่อง กว่า 400 ครอบครัว
ทั้งนี้ผู้ร้องขอความเป็นธรรมได้กล่าวในที่ประชุมว่านายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐานต่อสมาชิกที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว มีพฤติกรรมฉ้อฉลส่อแววทุจริต เช่นการพิจารณาจ่ายเงินค่าทำศพมีความเหลื่อมล้ำ บางศพได้รับ บางศพไม่ได้รับ โดยนายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเองสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มและส่งเงินสมทบค่าทำศพมาตลอด จนเมื่อปลายปี 2563 บุตรชายของตนซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เสียชีวิตลง ทางคณะกรรมการกลุ่มฌาปนกิจไม่จ่ายเงินให้ โดยอ้างว่า บุตรชายตนเองไปตั้งถิ่นฐานอยู่ กทม นานแล้ว เสมือนได้แยกครอบครัวออกไปจากครอบครัวของตนเองที่เป็นสมาชิกกลุ่มอยู่ ซึ่งทำให้สมาชิกจำนวนมากเกิดความกังวลว่าจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ เพราะมีหลายครอบครัวที่ลูกหลานได้ออกไปทำงานอยู่ต่างถิ่น หากเสียชีวิตทางกลุ่มจะจ่ายเงินให้หรือไม่ รวมทั้งที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยมีการประชุมชี้แจงการดำเนินงานให้สมาชิกทราบ รวมถึงสถานะทางการเงินกับสมาชิก ตนจึงร้องขอความเป็นธรรมกับทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทางศูนย์ดำรงธรรมได้เชิญนายสุเทพ พั้วพวง มาให้ปากคำเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 และได้ชี้แจงข้อร้องเรียนให้ผู้ร้องได้รับทราบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ผลสรุปว่าผู้ถูกร้องยอมเจรจาว่าจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้ทางผู้ร้องแต่ต้องรอมติจากสมาชิกในการประชุมใหญ่ ที่จะประชุมกันในวันที่ 18 มีนาคมนี้ก่อน โดยทางผู้ร้องมีข้อต่อรอง 2 ประการคือให้ปลดล็อคการสืบทอดอำนาจของประธานและกรรมการโดยให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระ ให้ประธานและกรรมการกล่าวขอโทษในการทำงานผิดพลาดต่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม แต่พอมาวันที่ 14 มีนาคม ทางผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงโดยออกแบบกฎกติกาข้อบังคับของกลุ่มฌาปนกิจขึ้นมาใหม่และแจกให้สมาชิกบางส่วนซึ่งทางผู้ร้องเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายและจะจบด้วยสันติวิธีไม่ได้
ในการประชุมทางกลุ่มฌาปนกิจได้ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆของผู้ร้องและสมาชิก แต่ก็ยังไม่กระจ่างในหลายกรณี โดยนายประสิทธิ์ จงธรรม์ กรรมการกลุ่มได้กล่าวกลางที่ประชุมว่าสมาชิกอย่ากังวลกับการทำงานของกรรมการ หากมีการเสียชีวิตของสมาชิกสามารถจ่ายเงินได้ทันที 3 ศพ ส่วนกรณีการเสียชีวิตบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ เนื่องจากบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของกลุ่มจึงไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ หากสมาชิกอยากให้จ่ายก็ให้สมาชิกรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายเอง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการ พร้อมทั้งประกาศยุติการดำเนินงานของกลุ่มฌาปนกิจที่ตั้งมานนกว่า 25 ปีลง และจะเปิดกลุ่มใหม่ หากใครสนใจจะเข้าให้มายื่นความจำนงกับกรรมการแต่ละเขตต่อไป
ทางด้านนายอำเภอหล่มสัก กล่าวว่าในส่วนกรณีของปัญหาการจ่ายเงินค่าศพของสมาชิก เป็นสิทธิ์ที่ทางคณะกรรมการจะพิจารณา ทางอำเภอจะเข้าดูในด้านเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายชื่อคณะกรรมการ หลักฐานทางการเงินและการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกลุ่มให้มีชัดเจน ถูกต้องและโปร่งใส โดยจะให้ปลัดอำเภอเข้ามาให้คำแนะนำและดำเนินการให้ถูกตามตามระเบียบทางราชการภายในสองอาทิตย์ ทั้งนี้กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) รวมตัวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 มีสมาชิกแรกเริ่ม 100 ครอบครัว ในพื้นที่ หมู่ 2,5,11,12,13,14,17 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 458 ครอบครัว
มนสิชา คล้ายแก้ว