วันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย อาคาร (วช.) 1 ชั้น 1 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมแถลงข่าว เรื่อง “กิจกรรมเปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House): 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 3)” เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งในวันนี้ (วช.) ได้มีการเปิดตัว 1 นักวิจัย ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง ซึ่งเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี และเภสัช ประจำปี 2564
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า (วช.) มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ให้กับศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง เพราะเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่ม และอุทิศตนเพื่องานวิจัย อย่างต่อเนื่อง สร้างองค์ความรู้การวิจัยที่สำคัญทางเภสัชวิทยาของโรคมาลาเรียและโรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันงานวิจัยทางด้านมาลาเรียในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
โดยมีนักวิชาการและนักวิจัยทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศให้ความสนใจ ติดตาม และนำผลงานวิจัยไปศึกษาวิจัยต่อยอด เช่น งานวิจัยทางเภสัชจลนศาสตร์ งานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์กรการวิจัย ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการวิจัยโรคมาลาเรีย และมะเร็ง ท่อน้ำดี รวมถึงองค์การระดับนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก (UNDP World Bank Special Program for Research and Training in Tropical Diseases: WHO/TDR)
ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานและฝึกอบรมด้านการวิจัยคลินิกขององค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่นักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในการให้ความรู้ และฝึกอบรม รวมทั้งการตรวจสอบและประเมินโครงการวิจัยในคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัย จึงคู่ควรแก่การได้รับรางวัล
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้นักวิจัยที่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการหรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้นๆ โดยผลงานวิจัยสร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยรุ่นหลังได้
นักวิจัยที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะได้เหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ และเงินรางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน