ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี รายงานข่าวมาว่า
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลพบุรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกประทานบัตรเหมืองแร่ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ สภาผู้แทนราษฎร นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค รองประธาน กรรมาธิการ นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ กรรมาธิการฯและ ส.ส.เขต 5 จ.กาญจนบุรี และคณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตัวแทนกรมควบคุมมลพิษ ตัวแทนนายอำเภอทองผาภูมิ ตัวแทนสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทน อบต.ชะแล
นายประทวน กล่าวว่า ต้องแยกให้ได้ก่อนว่าความผิดพลาดในอดีตและสิ่งที่จะทำต่อในอนาคตว่า ทิศทางที่จะวางกรอบของกฎหมายและให้อำนาจหน้าที่ตามกรอบของการวางอำนาจตามฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ตนและคณะใช้เวลาได้เดินทาง 7 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ ถึงหมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะเดินทางไปกลับก็ 14 ชั่วโมง ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ ตั้งใจลงพื้นที่ในทุกภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้การศึกษาจากประเด็นเหมืองตะกั่วที่หมู่บ้านคลิตี้นี้ จะนำไปสู่การย่อยข้อมูลเพื่อนำไปสู่ทิศทางการดำเนินการให้มีทางออกสำหรับทุกฝ่าย ให้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน รวมถึงประโยชน์ที่จะได้ต่อฝ่ายเอกชน รัฐบาล และประเทศชาติ ที่คุ้มค่าที่สุด หากสร้างเหมืองแล้วได้ประโยชน์ก็ควรสร้างแต่หากสร้างเหมืองแล้วไม่ก่อประโยชน์ก็ควรคงไว้ดังเดิม
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ หลังจากรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้วจะนำไปศึกษาเพื่อให้ได้ประโยชน์ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยหากจะมีการสร้างเหมืองจริงจะต้องวางกฎหมายอย่างรอบคอบ นักลงทุนจะต้องมีความพร้อมทั้งงบประมาณและประสบการณ์ อีกทั้งระบบการที่ EIA และ EHIA จะต้องมีมาตรฐานปราศจากการทุจริตในทุกรูปแบบ เมื่อมีผลตอบแทนจากการสร้างเหมือนไม่ว่าจะเป็นรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ ฝ่ายเอกชนจะตอบแทนและดูแลชุมชนในแง่ของ แรงงาน ความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณูประโภค ฯลฯ อย่างไรให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างเหมืองกับชุมชนอย่างมีความสุข สำหรับค่าภาคหลวงแร่ที่ภาครัฐได้รับนั้นควรจะมีการจัดสรร ให้ถึงกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงมวลรวมของประเทศอย่างไรให้เกิดการสมดุลและไม่มีเหลื่อมล้ำ สำหรับภาคราชการควรจะมีบทบาทรวมถึงอำนาหน้าที่รวมถึงความมีใจ (Service mind) ที่จะเข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและประชาชน ให้สามารถได้มาซึ่งประโยชน์อันสูงสุดกับประเทศชาติ
สำหรับความเป็นมาลำดับเหตุการณ์ “กรณีเหมืองแร่คลิตี้” ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อนหน้า กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่ว ในลำห้วยคลิตี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2518 หรือเพียง 8 ปีภายหลังการเริ่มดำเนินกิจการของโรงแต่งแร่จากเหมืองตะกั่ว โดยโรงแต่งแร่แห่งนี้เป็นของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นลำห้วยคลิตี้ ใกล้กับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง หมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ และหมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็น กลุ่มชาติพันธุ์เหรี่ยงโปว์ที่สืบอายุยาวนานมาหลายร้อยปี เมื่อชาวกะเหรี่ยงในชุมชนหลายคนพบเห็นการปล่อยน้ำเสียลงในลำห้วย ก่อนที่ต่อมาไม่นานจะพบว่าน้ำในลำห้วยมีความผิดปกติ “…มีโคลนดินใต้ท้องน้ำมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรง น้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น เมื่อดื่มเข้าไปทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เมื่ออาบน้ำหรือเล่นน้ำจะเกิดอาการคันตามตัว ปลาน้อยใหญ่ลอยตายเกลื่อนลำห้วย”
หลังจากนั้น ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้พยายามค้นหาถึงสาเหตุของปัญหา ก่อนจะพบว่ามีการปล่อยน้ำ หางแร่จากโรงแต่งแร่เหนือหมู่บ้านลงในลำห้วยคลิตี้ จึงได้เริ่มร้องเรียนต่อทางเหมืองและโรงแต่งแร่ครั้งแรก ในปี 2521 ระหว่างปี 2532 – 2541 ประชาชนในหมู่บ้านมีอาการเจ็บป่วยอย่างผิดปกติ แต่คล้ายคลึงกัน คือ ถ่ายท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก ชาตามร่างกาย บางรายตาบอดสนิท และเริ่มทยอยเสียชีวิต หญิงที่ตั้งครรภ์แท้งบุตร ทารกเกิดใหม่บางรายมีอาการผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านโดยเฉพาะควายได้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ตายด้วยอาการล้มชักน้ำลายฟูมปาก ปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้ชาวคลิตี้ล่างรวมตัวกันส่งตัวแทนชุมชนไปเจรจากับโรงแต่งแร่หลายครั้ง รวมทั้งปรึกษากับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็ยังไม่รับการแก้ไข
จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2541 ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาซึ่งเข้าไปพบปัญหา ได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รับรู้ในสาธารณะจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ภายหลังการร้องเรียน คพ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำ ตะกอนดิน ท้องน้ำ และในสัตว์น้ำ โดยเฉพาะจุดที่อยู่ใต้โรงแต่งแร่คลิตี้ลงไป โดยสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมใน ห้วยคลิตี้ที่ตรวจพบในปี 2541 คือ บริเวณใต้โรงแต่งแร่คลิตี้ พบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำในรูปของตะกั่วทั้งหมด (Total Lead) เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน และพบตะกอนดินท้องน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วในระดับสูงมาก สัตว์น้ำมีการสะสมสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (2529) ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยพบว่า ปลามีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อน 6 – 82 เท่า ปู มีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานฯ 125 เท่า และกุ้ง มีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 130 เท่า
ต่อมาในปี 2542 ได้มีการตรวจติดตามสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมอนามัย ซึ่งการตรวจเลือดเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด ครั้งนี้พบว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง โดยเด็กอายุ 0-6 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัม/เดซิลิตร, เด็กอายุ 7-15 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยจากการสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538 – 2539 โดยกองอาชีวอนามัย อยู่ที่ 4.29 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และต่อมา พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ได้ออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยบางรายในหมู่บ้านว่า “เป็นโรคพิษสารตะกั่ว” ขณะที่น้ำในลำห้วยยังคงเป็น สีดำแดงในปีเดียวกัน บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปิดกิจการลง 22 พฤษภาคม 2543 คพ. ซึ่งยังคงเฝ้าติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รวมถึงกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ก็พบว่าในลำห้วยยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง
ในปี 2544 ได้มีการปิดเหมืองแร่ตะกั่วลงอย่างถาวร 2 ปีถัดมา สาธารณสุขอนามัยเกริงกระเวีย ได้เข้าไปปิดประกาศ “งดบริโภคน้ำและปลาในลำห้วยชั่วคราว” เพื่อเตือนมิให้ใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2545
ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งชาวคลิตี้ล่างจำนวน 8 คนที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี และแพทย์บ่งชี้ว่าทั้ง 8 คนป่วยจากพิษสารตะกั่วเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ถูกต้องทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระดับตะกั่วในเลือดลดลง และสุขภาพดีขึ้น
30 มกราคม 2546 ผู้ป่วย 8 คนที่แพทย์รับรองว่าเป็นป่วยจากพิษสารตะกั่ว ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่ง ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเอาผิดกับบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ
พ.ศ. 2547 ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ 22 คน ยื่นฟ้อง คพ. ต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วย
19 ตุลาคม 2550 ชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 151 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลยที่ 1- 7 ในข้อหาหรือ ฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท พร้อมทั้งขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้
2550 ศาลอุธรณ์ภาค 7 (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) ได้มีคำพิพากษาตัดสินให้บริษัทผู้ก่อมลพิษต้องชดใช้เงินค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คนเป็นจำนวนเงิน 29,551,000 บาท จากนั้นได้มีชาวบ้านคลิตี้อีก 151 คน ยื่นฟ้องบริษัทฯ
2551 ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า คพ. ล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วย และให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 743,226 บาท จากนั้นคดีได้ขึ้นสู่ชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง “จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิม” นอกจากนี้ยังให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูหรือขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป “หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย”
2554 ศาลอุธรณ์ภาค 7 (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) ได้พิพากษาให้บริษัทผู้ก่อมลพิษ และกรรมการ จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 36,050,000 บาท ฐานเป็นผู้ก่อมลพิษ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย “โดยเห็นว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ”
10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุด ได้คำพิพากษาให้ คพ. ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย รายละ 177,199.55 บาท และให้ติดตามตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งให้กำหนดแผนหรือแนวการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จนกว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้อยู่ในระดับไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมถึงต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยวิธีการเปิดเผย ทำให้ คพ. ต้องจ่ายค่าชดเชยและทำโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วย (ระยะที่ 1) พร้อมให้ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาแนวทางฟื้นฟูมานำเสนอในเดือนกันยายน 2556 โดยมีกรอบทำงาน 120 วัน
27 สิงหาคม 2556 คพ. รับอนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 เป็นงบกลางวงเงิน 11,850,000 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้ดำเนินโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟู ลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว แต่เงินจำนวนนี้ก็เป็นเพียงเงินในการศึกษาแนวทางในการฟื้นฟูเท่านั้น แม้คำพิพากษาจะผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว แต่ไม่มีทีท่าทีว่าจะมีการลงมือฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ทั้งที่เคย มีแผนการจะฟื้นฟูแล้วตั้งแต่ปี 2541 ในช่วงต้นที่ คพ. ได้ทราบเรื่อง โดยการทำทางน้ำอ้อมเพื่อดูดตะกอนตะกั่วออก ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท แต่ก็ระงับไปเมื่อบริษัทผู้ก่อมลพิษไม่ให้ความร่วมมือ
ใจรัก วงศ์ใหญ่
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี